“โซดาแอซ” ทำอะไรได้บ้างนะ?

โซเดียมคาร์บอเนต (Sodium Carbonate) หรือ โซดาแอช (Soda Ash) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อโซดาซักผ้า เป็นสารที่มีสูตรเคมี คือ Na2CO3 มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น สามารถละลายได้ในน้ำ แต่ละลายได้น้อยกว่าในแอลกอฮอล์ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง โซเดียมคาร์บอเนตนั้น นิยมใช้งานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีประวัติในการค้นพบและใช้งานมาอย่างยาวนาน

ความเป็นมาและคุณสมบัติของโซเดียมคาร์บอเนต

โซเดียมคาร์บอเนตนั้นมีประวัติการใช้งานกันมาตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 18 มักพบได้ในธรรมชาติ บริเวณที่มีพื้นที่แห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทะเลสาบแต่เหือดแห้งไป ย้อนไปในช่วงสมัยอียิปต์โบราณนั้น มีการขุดแร่อย่าง Natron (เนทรอนเป็นเกลือที่ประกอบไปด้วย โซเดียมคาร์บอเนต, โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือเบกกิ้ง โซดา, โซเดียมคลอไรด์, และโซเดียมซัลเฟต ) บริเวณใกล้ๆ กับแม่น้ำไนล์ แร่นี้เองที่ถูกนำมาใช้ในการทำมัมมี่ ในช่วงศตวรรษที่ 18 นั้น กรรมวิธีในการผลิต จะใช้กระบวนการทางเคมีอย่าง Leblanc process หรือกระบวนการเลอบลังก์ ผู้ค้นพบวิธีการนี้ก็คือ Nicolas Leblanc (นิโคลาส เลอบลังก์) มีวิธีการโดยใช้โซเดียมคลอไรด์, กรดกำมะถัน (ซัลฟิวริก), แคลเซียมคาร์บอเนต และถ่าน แต่กรรมวิธีการนี้นั้นทำให้เกิดแคลเซียมซัลไฟต์และมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่กระบวนการนี้ก็ถึงถูกใช้มาจนถึงราวช่วงปลายศตวรรษที่ 20

แต่ถึงอย่างนั้นเอง นักเคมีก็พยายามที่จะมองหาวิธีอื่นในการผลิต โดยในราวศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการผลิตโซเดียมคาร์บอเนต ผ่านกรรมวิธีทางเคมีที่เรียกว่า Solvay process หรือ กระบวนการโซลเวย์ โดยเปลี่ยนโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกง ให้กลายเป็นโซเดียมคาร์บอเนตผ่านการใช้แอมโมเนียและแคลเซียมคาร์บอเนต วิธีการนี้ถูกค้นพบโดย เออร์เนส โซลเวย์ นักอุตสาหกรรมเคมีชาวเบลเยี่ยม ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ จึงถูกนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตโซเดียมคาร์บอเนตที่ค่อนข้างแพร่หลายและยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน

โซเดียมคาร์บอเนต เป็นสารเคมีที่มีสีขาว หรือออกไปทางสีน้ำตาลเล็กน้อย สามารถละลายได้ง่ายในน้ำ มีลักษณะที่เป็นผงละเอียด มีจุดหลอมเหลวที่สูงถึง ประมาณ 851 องศาเซลเซียส มีค่าความเป็นด่างอยู่ที่ pH 11.5 แต่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัสกับผิวหนัง แต่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับดวงตา ถือเป็นสารเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

ประโยชน์และการนำไปใช้งานของโซเดียมคาร์บอเนต

สำหรับโซเดียมคาร์บอเนตนั้น เป็นสารเคมีที่ไม่มีกลิ่น มีความสามารถในการดูดความชื้นในอากาศได้ดี นอกจากประวัติที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว โซเดียมคาร์บอเนต ยังสามารถพบได้ในขี้เถ้าของพืชและสาหร่ายทะเลบางชนิดด้วย โดยเป็นสารเคมีที่นอกจากจะถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์มากมาย ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้น้ำอ่อนตัว จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาซักผ้าและสบู่ ไปจนถึงการนำไปใช้ในการปรับสภาพความเป็นกรดด่างของน้ำ, การผลิตขวดแก้ว, เซรามิก, กระดาษ ฯลฯ ที่สำคัญโซเดียมคาร์บอเนตถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมด้านอาหารด้วย โดยใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ, สารแต่งรสชาติ, การถนอมอาหาร, สารช่วยในกระบวนการผลิตอาหาร, กระบวนการคัดแยก, ลดความเป็นกรดในน้ำซุป เป็นต้น ในอเมริกาเอง โซเดียมคาร์บอเนตนั้นก็ถูกใช้ในกระบวนการสำหรับการผลิตแก้วเป็นจำนวนมากเพื่อแทนที่การใช้พลาสติก นอกจากนี้โซเดียมคาร์บอเนต ก็ยังถูกใช้เพื่อการผลิตสารประกอบทางเคมีอื่นๆ ได้แก่

  • ใช้เป็นสารกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และแก๊สเผาไหม้ในโรงงาน
  • ใช้ในโรงบำบัดน้ำ และกระบวนการบำบัดน้ำเสีย
  • ใช้เป็นสารในกระบวนการย้อมผ้า
  • ใช้เป้นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการสำหรับเปลี่ยนถ่านหินให้เป็นเชื้อเพลิง
  • ใช้ในกระบวนการการกลั่นปิโตรเลียม
  • ใช้ในการฟอกผ้าฝ้ายและผ้าลินิน

ข้อควรระวังและการเก็บรักษา

โซเดียมคาร์บอเนตนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีความอันตรายหรือข้อควรระวัง ดังนั้น สำหรับการนำไปใช้งาน จึงควรมีข้อควรระวังและแนวทางในการเก็บรักษาโซเดียมคาร์บอเนตเบื้องต้น ดังนี้

  • ระวังการอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ทางการหายใจหรือสูดดม โดยอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ไอ หลอดลมอักเสบได้, การสัมผัสทางผิวหนัง อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อนได้, การสัมผัสดวงตา ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา, การรับประทานหรือกลืน จะก่อให้เกิดการระคายเคืองหลอดลม เกิดอาการไอ
  • การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อเกิดการระคายเคือง หากสูดดมเข้าไป ให้รีบรับอากาศบริสุทธิ์โดยเร็ว, หากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรง ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมาก กรณีที่เปื้อนเสื้อผ้า ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออกทันที, หากสารเคมีเข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด แล้วจากนั้นจึงพบจักษุแพทย์, หากรับประทานหรือกลืนเข้าไป ให้รีบดื่มน้ำตามในปริมาณมาก แล้วจากนั้นจึงไปพบแพทย์
  • ในกรณีที่เกิดการระเบิดหรืออัคคีภัย ถึงแม้ว่าโซเดียมคาร์บอเนต ไม่ได้เป็นสารเคมีที่ไวไฟ แต่ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้นั้นก็จะทำให้เกิดควันพิษได้ จึงควรป้องกันและหากต้องเข้าไปในสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ ควรสวมใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดที่มีถังออกซิเจนในตัว
  • การเก็บรักษาโซเดียมคาร์บอเนตนั้น ควรเป็นในภาชนะที่มีการปิดมิดชิด ไม่เป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบา เก็บอยู่ในที่เย็นและแห้ง อุณหภูมิประมาณ 2 – 8 องศาเซลเซียส โดยจะต้องเก็บในที่ที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงความชื้น นอกจากนี้ยังควรอ่านคำเตือนและข้อควรระวังต่างๆ ที่ระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ละเอียดก่อนใช้งานด้วย

 

 

บริษัท เวิลด์ เคมีคอล ฟาร์อีสท์ จำกัด (จังหวัดเชียงใหม่)
261/3-6 ถ.มหิดล ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 โทร. 053-204 446-7 / 053-204 465 sales_worldchemical@hotmail.com