ความแตกต่างระหว่าง ตะไคร้หอม และ ตะไคร้บ้าน

ตะไคร้เป็นพืชที่เราคุ้นเคยกันมานาน เพราะในอาหารไทยหลายชนิดมักจะใส่ตะไคร้ลงไปช่วยในการปรุงอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ตะไคร้บ้าน กับ ตะไคร้หอม มีสรรพคุณที่แตกต่างกัน ที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

ตะไคร้บ้าน

จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า  ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบมีขนหนาม เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เป็นพืชที่นิยมปลูกทั่วไปและมีหลากหลายชนิด โดยถือกำเนิดในประเทศอินเดีย อินโดเนเซีย พม่า ศรีลังกา และไทย ตะไคร้เป็นยารักษาโรค ยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก

สรรพคุณของตะไคร้บ้าน

มีส่วนช่วยในการขับเหงื่อ, แก้และบรรเทาอาการหวัด อาการไอ, ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ใบสด), ช่วยแก้อาการปัสสาวะพิการและรักษาสโรคนิ่ว และที่สำคัญสารสกัดจากตะไคร้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย

วิธีใช้

ตะไคร้คั่วไฟจนเหลืองนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ผสมในตำรับยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ชื่อว่า ยาเลือดงาม

ข้อมูลเพิ่มเติม : นิยมปลูกเป็นพืชสวนครัวใช้ต้น เป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อแต่งกลิ่น แต่งรส เช่น ต้มยำ ยำ พล่า เป็นต้น

ตะไคร้หอม หรือตะไคร้แดง

เป็นพืชสมุนไพรประเภทหญ้า มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นตรงลักษณะเป็นข้อๆ และแตกจากเหง้าออกเป็นกอ ซึ่งตะไคร้หอมนั้นมีต้นกำเนิดมาจากป่าเขตร้อนของเอเชีย เป็นพืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เหมาะสำหรับการไล่ยุง ไม่นิยมนำมาประกอบอาหารรับประทานเหมือนตะไคร้บ้าน มีการนำตะไคร้หอมเข้ามาจากประเทศอินเดีย ผู้ที่เริ่มนำเข้ามาในประเทศไทยคือ คุณหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ โดยนำมาปลูกที่จังชลบุรีและจึงได้แพร่กระจายปลูกไปทั่วทุกภาคของประเทศ

ตะไคร้หอม จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับตะไคร้บ้าน แต่มีกลิ่นหอมฉุนที่แรงกว่า นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ต้มน้ำดื่ม ทำธูป และใช้ในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช

ตะไคร้หอม (Citronella grass) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Gramineae พันธุ์ที่นิยมปลูกมากเพื่อการผลิตน้ำมันหอมระเหย มีอยู่ 2 ชนิด คือ พันธุ์ Cymbopogonnardus Lin. มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ตะไคมะขูด ตะไคร้มะขูด (ภาคเหนือ) หรือตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช) ส่วนอีกชนิดคือพันธุ์ Cymbopogonwinterianus Jowitt ปลูกมากบริเวณเกาะชวา มีชื่อพื้นเมืองว่า Mahapengiri ซึ่งต่อมาได้กระจายออกไปหลายแห่ง เช่น เกาะไต้หวัน เกาะไฮติ และเป็นชนิดที่ปลูกมากในประเทศไทย

สรรพคุณของตะไคร้หอม

นำต้นสดมาทุบแล้ววางไว้ใช้สำหรับกันยุงหรือแมลงรบกวนที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย และโรคเท้าช้าง รวมทั้งช่วยแก้อาการริดสีดวงในปาก ช่วยขับโลหิตทำให้เม็ดเลือดบีบตัว ตลอดจนแก้อาการแน่นท้อง ขับลมในสำไล้และทำยาฆ่าแมลง

น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม

น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) เป็นสารอินทรีย์ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น มีกลิ่น และรสเฉพาะตัว ถูกสร้างไว้ในเซลล์พิเศษ ผนังเซลล์ ต่อมหรือท่อภายในพืช น้ำมันหอมระเหยเกิดขึ้นจากกระบวนการเมทาบอลิซึมระดับทุติยภูมิ (secondary metabolite) แต่เป็นสารที่ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อการเจริญเติบโต เป็นสารที่พบในพืชบางชนิด  สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำมันหอมระเหย เป็นสารที่ได้จากปฏิกิริยาเมแทบอลิซึมระดับปฐมภูมิ (primary metabolite) แตกต่างกันที่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการผลิตน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด