มาทำความรู้จัก “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” กันนน
น้ำยาปรับผ้านุ่ม หมายถึง สารเคมีที่ที่มีคุณสมบัติทำความสะอาด และปรับปรุงเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มให้มีความนุ่มนวล มีความหอม เมื่อสัมผัสหรือสวมใส่ทำให้ความรู้สึกนุ่มสบายของเนื้อผ้า มักใช้ใส่หลังจากการซักผ้าด้วยผงซักฟอกแล้ว
น้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นสารลดแรงตึงผิวที่มีองค์ประกอบของสาเคมีในลักษณะของสารโมเลกุลยาว ใช้เพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อลดความหยาบกระด้างของเส้นใยผ้าชนิดต่างๆ เพิ่มความเรียบลื่น และความอ่อนนุ่มของเนื้อผ้า
การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มในช่วงแรกมีการใช้ในเส้นใยเรยอน และต่อมามีการผลิตเพื่อใช้สำหรับเส้นใยผ้าได้ทุกชนิด เนื่องจากโดยธรรมชาติของเส้นใยผ้าที่ผลิตจากเส้นใยชนิดต่างๆมักมีความชื้นอยู่น้อย มีความแข็ง หยาบ ทำให้เกิดการหยาบต่อผิวเวลาสวมใส่ และเกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย
ประโยชน์น้ำยาปรับผ้านุ่ม
1. ทำให้ผ้าอ่อนนุ่ม เนื่องจากโครงสร้างของสารมีส่วนประกอบของไขมัน น้ำมันหรือขี้ผึ้ง ที่เคลือบอยู่บนผิวผ้าทำให้เกิดความนุ่มลื่น นอกจากนั้น สารปรับผ้านุ่มยังมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นได้ดีทำให้เส้นใยมีความชื้นเพิ่มขึ้น
2. ลดไฟฟ้าสถิตย์ เนื่องจากสารปรับผ้านุ่มมีประจุบวกที่เข้าเกาะติดกับประจุลบของเส้นใยทำให้ลดปริมาณประจุลบที่จะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์ได้
3.ผ้าทนต่อแรงขัดหรือการเสียดสี เนื่องจากมีการเคลือบของสารประเภทไขมันที่ช่วยลดแรงเสียดสีของเส้นใยได้
4. ช่วยเพิ่มน้ำหนักผ้า ทำให้ผ้าทิ้งตัวได้ดี ทั้งน้ำหนักจากสารปรับผ้านุ่ม และการดูดซับความชื้นบนเส้นใยเพิ่มขึ้น
5. ผ้ารีดง่ายขึ้น จากผ้าที่มีไขมัน และความชื้น ทำให้สามารถรีดง่าย ไม่ยับง่าย
6. ลดการเกิดขุยของผ้า โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น แขน ขา รักแร้ ซึ่งสารปรับผ้านุ่มจะช่วยลดแรงเสียดสีที่เป็นสาเหตุของการเกิดขุย
7. ทำให้ผ้าแห้งเร็ว เนื่องจากสารปรับผ้านุ่มมีส่วนประกอบของแอมโมเนียที่สามารถพาน้ำระเหยออกได้เร็ว
8. ลดการเปียกน้ำ สำหรับผ้าที่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มบ่อยๆ จะมีปริมาณไขมันเกาะติดมากทำให้ผ้าลดการเปียกน้ำได้ดีขึ้น
ข้อเสียน้ำยาปรับผ้านุ่ม
1. ผ้าที่ดูดซับความชื้นได้ดีจะดูดซับความชื้นได้น้อยลงจากการเคลือบของสารปรับผ้านุ่ม
2. การใช้น้ำยาบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดรอยคราบบนผ้า โดยเฉพาะการใช้ในปริมาณความเข้มข้นมากๆ
3. ผ้าเกิดเชื้อราได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการดูดซับความชื้นไว้ในเนื้อผ้า แต่ปัจจุบันมักมีส่วนผสมของสารเคมีที่ช่วยป้องกันเชื้อรา
4. ขัดขวางการทำงานของผงซักฟอก เนื่องจากสารปรับผ้านุ่มมักมีส่วนผสมของสารที่ทำให้ปริมาณฟองลดลง ดังนั้น จึงนิยมใช้หลังการซักผ้าเสร็จก่อนตาก
5. ทำให้ความเหนียวของผ้าลดลงจากความชื้นของผ้า
6. ทำให้ผ้ามีความทนไฟลดลง
ส่วนผสมน้ำยาปรับผ้านุ่ม
ส่วนผสมของน้ำยาปรับผ้านุ่มมักเป็นสารนอนไอออนิก แอมโฟเทอริก หรือแคตไอออนิก ซึ่ง 2 ชนิดแรกมีประสิทธิภาพในการดูดติดกับเส้นใยต่ำมากจึงไม่นิยมใช้เป็นส่วนผสมสำหรับน้ำยาปรับผ้านุ่มในครัวเรือน แต่นำมาใช้มากในอุตสาหกรรมตกแต่งผ้า ส่วนชนิดที่ 3 มีความสามารถดูดติดในเส้นใยได้ดีจึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาปรับผ้านุ่มสำหรับครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่
สารแคตไอออนิกที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสม ได้แก่ สารประกอบควอเตอร์นารีไนโตรเจน อาทิ ไดอัลคิลแอมโมเนียมคลอไรด์ ส่วนสารแคตไอออนิกชนิดอื่นๆที่นำมาใช้ เช่น amino amides และ imidazoleines
ส่วนประกอบทั่วไป
1. สารทำให้นุ่มที่สามารถกระจายในตัวทำละลาย (น้ำ) ได้ดี
2. สารช่วยกระจายตัว ทำให้ผลิตภัณฑ์มีเสถียรภาพ สามารถเก็บรักษาได้นาน ไม่มีการเกาะตัว และกระจายตัวในสารละลายได้ดี
3. สารช่วยให้ดูดติดเส้นใย ทำหน้าที่ช่วยในการดูดติดระหว่างสารทำให้นุ่มกับเส้นใยมีการดูดติดที่ดีขึ้น
4. สารกันบูด ทำหน้าที่ป้องกันการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ช่วยป้องกันการบูดของน้ำยาทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน
5. สารป้องกันฟอง ทำหน้าที่ป้องกันการเกิดฟองของสารทำให้นุ่มเวลานำมาใช้งาน เนื่องจากสารทำให้นุ่มมักมีคุณสมบัติทำให้เกิดฟองได้ง่ายเมื่อละลาย และมีการกวน
6. สารดูดความชื้น ทำหน้าที่เกาะติดกับเสื้อผ้าช่วยในการดูดเก็บความชื้นให้แก่เสื้อผ้า ทำให้เสื้อผ้ามีความชื้น ไม่แห้งกร้าน
7. น้ำหอม เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม น่าใช้
8. สารสี ทำหน้าที่เป็นสารสีให้แก่น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยสารสีนี้จะไม่มีผลเกาะติดเสื้อผ้าหรือทำให้สีเดิมของเสื้อผ้าเปลี่ยนไป
การทำงานน้ำยาปรับผ้านุ่ม
สารปรับผ้านุ่มเมื่อละลายน้ำ และใช้ปรับความนุ่มของผ้าจะเข้าดูดติดบริเวณเส้นใยผ้า โดยมีหน่วยโซ่ยาวของสารที่เป็นอนุพันธ์ของไขมันที่เป็นส่วนท้ายไม่ชอบน้ำ และมีส่วนหัวที่เป็นส่วนชอบน้ำ เมื่อละลายน้ำจะให้ประจุบวก ส่วนเส้นใยมักให้ประจุลบ ทำให้เกิดการดูดติดซึ่งกันและกันภายใต้สภาวะความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่มลื่น ไม่เกิดประจุไฟฟ้าเมื่อแห้งตัว ตามคุณสมบัติของสารปรับผ้านุ่ม