วิธีดับกลิ่นเท้ามีกลิ่น เท้าเหม็น ทำไงดี ?
วิธีแก้ เท้าเหม็น สำหรับคนที่มีกลิ่นเท้า เท้ามีเหงื่อ หรืออับชื้นบ่อย ๆ มีหลายวิธีที่ทำได้ง่ายด้วยตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับอากาศชื้นๆ ของฝนนั่นคือ อาการเท้าส่งกลิ่นเหม็นเพราะอากาศอับชื้น เมืองไทยเราเป็นประเทศในเขตร้อน ในช่วงที่มีฝนตกโปรยปรายอากาศร้อนชื้น คนที่ใส่ถุงเท้าและรองเท้ามิดชิดอยู่ตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาถอดรองเท้า มักจะมีกลิ่นเหม็นเค็มๆ ส่งกลิ่นตลบอบอวลไปหมด
กลิ่น เท้าเหม็น เกิดจากอะไร?
อาการเท้าเหม็น เท้าส่งกลิ่น หรือ Pitted Keratolysis เกิดจากเหงื่อและแบคทีเรีย เหงื่อของคนเรานั้นมี 2 ชนิด คือแบบมีกลิ่น และไม่มีกลิ่น เหงื่อที่มีกลิ่นถูกสร้างมาจากต่อมที่เรียกว่า Apocrine Sweat Gland เป็นต่อมเหงื่อที่พบได้บริเวณบางส่วนของร่างกาย เช่น รักแร้ และขาหนีบ ส่วนเหงื่อที่ไม่มีกลิ่นถูกผลิตจากต่อมที่เรียกว่า Eccrine Sweat Gland เป็นต่อมเหงื่อที่พบทั่วไปตามร่างกายรวมถึงบริเวณเท้า ดังนั้นเหงื่อที่เท้าจึงไม่มีกลิ่น แต่กลิ่นเท้าเกิดจากการที่แบคทีเรียย่อยสลายสารในเหงื่อเพื่อใช้เป็นพลังงานที่เรียกว่า Methanethiol Gas ซึ่งมีกลิ่น นอกจากแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นแล้ว ยังมีแบคทีเรียบางชนิดที่ย่อยสลายสารในเหงื่อแล้วเกิดเป็นกรดอะมิโนซึ่งทำให้เกิดกลิ่น
สาเหตุของกลิ่นเท้า
- ต่อมเหงื่อที่เท้า ปกติแล้วเท้าของเราจะมีต่อมเหงื่ออยู่มากกว่า 250,000 ต่อม และเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมากเมื่อเทียบกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้เหงื่อที่ออกมาก็เพื่อทำให้ผิวเท้าของเราอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น อีกทั้งต่อมเหงื่อที่เท้ายังสามารถผลิตเหงื่อออกมาได้ตลอดเวลาอีกด้วย โดยสามารถผลิตเหงื่อออกมาได้มากถึงสัปดาห์ละ 4.5 ลิตรเลยทีเดียว และนี่เองจึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกลิ่นเท้า
- สวมใส่รองเท้าที่ปิดมิดชิดมากจนเกินไป เช่น รองเท้ากีฬา
- สวมใส่ถุงเท้าที่ไม่ใช่ผ้าฝ้าย 100% เพราะจะทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี จนเกิดกลิ่นอับชื้นได้
- การมีขนที่ข้อนิ้วเท้าหรือหลังเท้าก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นอับชื้นได้เช่นกัน
- เกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของถุงเท้า ถุงน่อง และรองเท้า และการใส่ซ้ำ ๆ โดยไม่ทำความสะอาด
- สวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าในขณะที่เท้าหรือถุงเท้า/รองเท้า เปียกชื้นอยู่
- เกิดจากการมีแผลเรื้อรังที่เท้า
- เกิดจากโรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis) หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อ Micrococcus Sedentariusซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน ๆ ทำให้บริเวณเท้าเกิดมีเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก จนเกิดความอับชื้น และส่งผลทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุดของฝ่าเท้าเปื่อยยุ่ย ทำให้มีค่าความเป็นด่างสูง ซึ่งมีสภาพเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เท้าเกิดเป็นหลุมเล็ก ๆ และเกิดกลิ่นเหม็นได้ เนื่องจากผลของการย่อยผิวหนังที่ฝ่าเท้าของแบคทีเรียทำให้ได้สารกลุ่มซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น โดยโรคเท้าเหม็นนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเพศชายมากถึง 95% เนื่องจากผู้ชายมีเหงื่อออกมากกว่าผู้หญิง และพบได้บ่อยในภูมิประเทศเขตร้อนและเขตศูนย์สูตร เนื่องจากมีภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
วิธีแก้เท้าเหม็นที่ทำได้ด้วยตัวเอง มีดังนี้
1. รักษาความสะอาดของเท้า
วิธีแก้เท้าเหม็นวิธีแรกคือการรักษาความสะอาดบริเวณเท้า เนื่องจากเท้าเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่ออยู่มาก และเป็นบริเวณที่อับชื้นและสกปรกได้ง่ายจากการสวมรองเท้าและถุงเท้าในระหว่างวัน ดังนั้น ควรทำความสะอาดเท้าอย่างน้อยวันละครั้ง ในตอนเช้าหรือเมื่อกลับถึงบ้านในตอนเย็น โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยน หรือสบู่ฆ่าเชื้อฟอกเท้าแล้วล้างออก
รวมทั้งควรตัดเล็บเท้าให้สั้น รักษาความสะอาดของเล็บเป็นประจำ และกำจัดหนังเท้าที่แข็งออก โดยใช้แปรงหรือหินขัดเท้าสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรีย
2. แช่เท้าในน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชู
หากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และน้ำแล้วกลิ่นเท้ายังไม่ดีขึ้น การแช่เท้าในน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชูสัปดาห์ละครั้งก็เป็นวิธีแก้เท้าเหม็นที่ได้ผลเช่นกัน
(กรดน้ำส้มสามารถนำมาใช้เจือจางเป็นน้ำส้มสายชูได้เนื่องจาก น้ำส้มสายชู ก็คือ กรดน้ำส้มที่ความเข้มข้นที่ประมาณ 5%)
เกลือจะช่วยดึงความชื้นออกจากผิว และลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เท้าเหม็น โดยผสมดีเกลือฝรั่ง (Epsom Salt) ประมาณครึ่งถ้วยลงในน้ำอุ่น หากหาไม่ได้ อาจใช้เกลือปรุงอาหารหรือเกลืออาบน้ำแทนได้ แช่เท้าทิ้งไว้ 10–20 นาที และเช็ดเท้าให้แห้ง
น้ำส้มสายชูมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะช่วยแก้เท้าเหม็นได้ โดยผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) 1 ส่วนกับน้ำอุ่น 2 ส่วน แช่เท้าทิ้งไว้ 15–20 นาที อย่างไรก็ตาม หากมีแผลเปิดที่เท้า ไม่ควรแช่เท้าในน้ำส้มสายชู เพราะอาจทำให้ระคายเคืองได้
3. ดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
หากเท้าเปียกชื้นอาจทำให้เท้าเหม็นได้ง่ายขึ้น ควรเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังจากล้างเท้า โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้าที่เปียกชื้นง่ายและแบคทีเรียเติบโตได้ดี โดยอาจโรยแป้งฝุ่นบาง ๆ เพื่อช่วยดูดซับเหงื่อและความชื้นที่เท้า ในตอนกลางคืนอาจใช้สำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์เช็ดเท้า เพื่อช่วยให้เท้าแห้ง ยกเว้นในกรณีที่มีแผลแตกหรือแผลเปิดที่เท้า เพราะอาจทำให้แสบแผลได้
4. ใส่ใจการเลือกถุงเท้าและรองเท้า
ถุงเท้าและรองเท้าเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดกลิ่นเหม็นที่เท้าได้ โดยวิธีแก้เท้าเหม็นจากถุงเท้าและรองเท้า มีดังนี้
- เลือกถุงเท้าที่ซึมซับและระบายเหงื่อได้ดี ไม่อมความชื้น เช่น ถุงเท้าที่ทำจากใยธรรมชาติ และถุงเท้าสำหรับนักกีฬา
- สวมรองเท้าแตะ หรือรองเท้าที่เปิดนิ้วเท้าในวันที่มีอากาศร้อน และควรเดินเท้าเปล่าในวันที่อยู่ในบ้าน เพื่อให้เท้าแห้งและป้องกันเท้าเหม็น
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่คับเกินไป เพราะาจทำให้เหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น
- เปลี่ยนแผ่นรองด้านในรองเท้าเป็นแผ่นรองมีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียและกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เท้า
5. เปลี่ยนถุงเท้าและรองเท้าบ่อย ๆ
ควรเปลี่ยนถุงเท้าใหม่ที่ซักสะอาดแล้วทุกวัน ไม่ใส่ถุงเท้าซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ทำให้เท้าเหม็น หากอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนมาก ออกกำลังกาย หรือเมื่อมีเหงื่อออกมากที่เท้า ควรเปลี่ยนถุงเท้าคู่ใหม่
เช่นเดียวกันกับรองเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมติดกันหลายวัน หากรองเท้าชื้นเหงื่อหรือเปียกน้ำ ควรผึ่งลมหรือแดดอ่อน ๆ เพื่อให้เหงื่อและความชื้นในรองเท้าแห้งอย่างน้อย 1 วันก่อนนำมาใส่
6. ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้า
การใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้าเป็นวิธีแก้เท้าเหม็นที่ทำได้สะดวก ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีขายทั่วไปหลายรูปแบบ เช่น ผงแป้ง และสเปรย์ดับกลิ่นเท้า ซึ่งจะช่วยดูดซับความชื้นในรองเท้า ป้องกันการก่อตัวของเชื้อราและแบคทีเรีย และให้กลิ่นหอม
7. ปรึกษาแพทย์
บางครั้ง ปัญหาเท้าเหม็นที่เกิดขึ้นไม่หายขาดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s Foot) โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคเครียด และความผิดปกติของฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
การรักษาจะขึ้นอยู่กับโรคที่ตรวจพบ เช่น กรณีที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ แพทย์อาจให้ใช้ยาระงับกลิ่นเท้า ฉีดโบทอกซ์ (Botox) ที่เท้า เพื่อลดเหงื่อทุก 3–4 เดือน หรือการใช้ประจุไฟฟ้าระงับการทำงานของต่อมเหงื่อ (Iontophoresis)
หากใช้วิธีแก้เท้าเหม็นแล้วยังมีปัญหากลิ่นเท้าไม่หาย หรือมีอาการติดเชื้อที่เท้า เช่น ปวดเท้า เท้าบวมแดง เป็นแผลลอก มีริ้วสีแดงขึ้นที่เท้า จับเท้าแล้วรู้สึกอุ่น มีหนองไหล และมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เวิลด์เคมีคอล กรุ๊ป ผู้นําด้านการจําหน่ายและนำเข้า สารเคมีภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ และ ขนาดย่อม ประเภท เคมีอุตสาหกรรม เคมีทําความสะอาด เคมีสระว่ายน้ำ เคมีบำบัดน้ำ เคมีงานปั้น-งานหล่อ เคมีอาหาร กลิ่น สารสกัด สี น้ำหอม เคมีเครื่องสำอาง อาทิ กลีเซอรีน โซดาไฟเกล็ด โซเดียมเมต้าไบซัลไฟต์ เอทิลแอลกอฮอล์ ฯลฯ สารพัดด้านเคมี เวิลด์เคมิคอล กรุ๊ป พร้อมให้บริการและให้ปรึกษากับลูกค้าทุกท่าน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line ID : @worldchemical
Facebook : https://www.facebook.com/chemical.chiangmai
เว็บไซต์ : www.worldchemical.co.th
โทร : 053 204 446-7