อีพ็อกซี่เรซิ่น กับ โพลิเอสเตอร์เรซิ่น ต่างกันอย่างไร
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ เรซิ่น กันก่อนนะคะ เรซิ่น คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บาง
เรซิ่น ไม่ว่าจะเป็น งานไฟเบอร์กลาส หรือ งานหล่อตุ๊กตา งานเคลือบรูป เราทราบหรือไมว่ามันคืออะไร แปลอังกฤษเป็นไทย resin แปลว่า ยางไม้ ซึ่งทำให้คนที่ทำงานกับ เรซิ่นจะเข้าใจทันที เพราะเรซิ่นที่เราใช้อยู่จะมีสีออกเหลืองนิด ๆ และเหนียวหนืด ๆ เหมือนยางไม้
เรซิ่น มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร
เรซิ่น ที่มีขายตอนนี้ก็มีอยู่หลายประเภทซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในตระกูลโพลีเอสเตอร์ไม่อิ่มตัวทั้งนั้น (Unsaturated Polyester Resin) ก็คือพลาสติกชนิดหนึ่งที่ต่างจากพลาสติกทั่วไปที่มาเป็นเม็ดๆ แล้วเอามาหลอมเข้าโมลด์ออกมาเป็น ถุง เป็นถังขยะ เป็นเก้าอี้ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน แต่ เรซิ่นเป็นพลาสติกเหลว โดยถ้ามันแข็งตัวเป็นพลาสติกแข็งๆแล้วเราจะทำให้มันเหลวเพื่อขึ้นรูปใหม่แบบพลาสติกทั่วไปไม่ได้อีก ทางวิชาการเลยจะเรียก เรซิ่นว่าเป็นพลาสติกแบบ thermoset และเรียกพลาสติกทั่วๆไปว่า thermoplastic
ประเภทของเรซิ่น
- เกรด ออโธ หรือ Orthophthalic เป็น เรซิ่นหลักที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ทั้งใช้ในการหล่อธรรมดา หล่อใส เคลือบรูป ถังน้ำ ถังบำบัด กันชนรถ หลังคาแผ่นใส ทำได้หมด สารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะขึ้นรูปด้วยมือ ใช้เครื่องพ่น ใช้เครื่องพัน หรือแวคคั่ม ก็ได้ทั้งนั้น มีอยู่หลายเกรด หลายเบอร์ในตลาด
- เกรด ไอโซ หรือ isophthalic คุณสมบัติทนกรดด่างมากกว่า นิยมใช้ในงานเคลือบถัง หรือเคลือบพื้นที่ต้องทนการกัดกร่อน และยังนิยมเอามาทำแม่แบบไฟเบอร์กลาสให้มีความทนทาน มากขึ้น
- เกรดไวนิล หรือ vinyl-ester resin เป็น เรซิ่นที่ทนกรดและด่างที่มีความเข็มข้นและกัดกร่อนสูงที่สุดในกลุ่ม เรซิ่นและมีความแข็งแรงสูงกว่าทั้ง เกรด ออโธ และเกรด ไอโซ ด้วย แน่นอนว่าที่ราคาสูงกว่า นิยมนำไปทำถัง ท่อ เคลือบพื้น เคลือบบ่อ ที่ต้องทนการกัดกร่อนสูง และยังนิยมนำไปทำแม่แบบไฟเบอร์กลาสเพื่อความทนทานในการใช้งานเช่นเดียวกัน
- เกรดอีพ็อกซี่หรือ epoxy resin ซึ่งเป็นเกรดที่มีความหลากหลายของการใช้งาน และสูตรของการใช้ต่างๆ กันไปมากมาย ตั้งแต่ เน้นเรื่องความใส เช่น งานฝากระโปรงคาร์บอน งานเคลือบสติกเกอร์ เรื่องความแข็งแรงที่ใช้ในงานไฟเบอร์กลาสในส่วนที่รับแรงสูงๆ เช่นท่อความดัน ถังแก๊ส ไปจนถึงเน้นเรื่องแรงยึดเหนี่ยว สำหรับทำกาว ถือเป็น เรซิ่นที่มีความแข็งแรงสูงสุด แต่ก็ยังด้อยกว่าเกรด ไวนิลในแง่การทนการกัดกร่อน
เรซิ่น VS ตัวช่วยเร่ง VS ตัวม่วง
เรซิ่น orthophthalic และ isophthalic ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป โครงสร้างทางเคมีของเรซิ่นจะประกอบไปด้วย กลุ่มเอส เตอร์ หลายๆกลุ่มตามชื่อว่า โพลี นั่นเอง เรซิ่นทั่วไปเราจะเห็นเป็นของเหลวที่มีความหนืด มีสีจางๆ ซึ่งจริงๆก็คือโพลีเอสเตอร์เรซิ่น โดยสไตรีนโมโนเมอร์นั้นนอกจากจะช่วยลดความหนืดของเรซิ่นแล้วมันยังมีหน้าที่หลักในการเชื่อมกลุ่มเอสเตอร์ เข้าด้วยกันใน กระบวนการเชื่อมโครงสร้างโมเลกุลเพื่อการแข็งตัวของเรซิ่นอีกด้วย เราเรียกว่ากระบวนการนี้ว่า polymerization กระบวนการนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองที่อุณหภูมิห้อง โดยจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้เมื่อนานไปเรซิ่นจะเปลี่ยนจากของเหลวหนืดเป็นวุ้นๆ ได้เอง นั่นคือเรซิ่นมีอายุการเก็บที่จำกัด (ผู้ผลิตมักจะแนะนำว่าไม่เกินสามเดือน หกเดือน) กระบวนการแข็งตัวตามธรรมชาตินี้จะช้ามากๆ โดยเรซิ่นจะกลายจากของเหลวหนืดๆ เป็นวุ้นๆ ก้อนๆ จนกว่าจะแข็งตัวหมดใช้เวลาเป็นปีทีเดียว ดังนั้นในการนำเรซิ่นไปผลิตเป็นชิ้นงานเราต้องใช้สารเคมีตัวอื่นเข้ามาเร่งกระบวนการแข็งตัว คือ
- ตัวเร่งปฎิกิริยาcatalyst
- ตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาcobalt
โดยผู้ผลิต เรซิ่นมักจะผสมโคบอล์ท มาในเรซิ่นเวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้งาน ผู้ใช้เพียงแค่ผสมตัวเร่งปฎิกิริยาตอนจะใช้งานเรซิ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนผสมของตัวเร่งปฏิกิริยานั้นใช้น้อยมากเพียง 2-3% ก็พอที่จะทำให้เรซิ่นทั้งหมดเริ่มเป็นวุ้นภายในเวลาประมาณ 10-20 นาที และจะแข็งตัวจนเป็นของแข็งภายในเวลา 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น โดยตัวเร่งปฎิกิริยาเองไม่ได้มีส่วนในการเชื่อมโครงสร้างโมเลกุลของโพลีเอสเตอร์เรซิ่นแต่จะไปช่วยให้กระบวนการเชื่อมโครงสร้างโมเลกุล เกิดขึ้นได้รวดเร็วเท่านั้นเอง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปฏิกิริยานี้ไม่สามารถย้อนกลับได้ ทำให้เรซิ่นที่แข็งตัวแล้วไม่สามารถทำให้เหลวแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติกทั่วไป อีกประการจะสังเกตได้ว่าโครงสร้างโมเลกุลสายยาวของเรซิ่นที่เชื่อมกันในลักษณะขนานกันแบบนี้ทำให้เรซิ่นมีความแข็งแต่เปราะและนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องผสมใยแก้วเข้าไปเสริมความแข็งแรงให้เรซิ่น ซึ่งก็เปรียบเหมือนการนำเหล็กเส้นเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของปูนซีเมนท์ที่มีความแข็งแต่เปราะนั่นเอง
ส่วนการนำเรซิ่นไปใช้นั้น สามารถนำสารเติมเต็ม additive หลากหลายอย่างเข้ามาผสมเพื่อให้คุณสมบัติของเรซิ่นเหมาะสมในการใช้งานแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ผง แคลเซียม คาร์บอเนต เพื่อช่วยเพิ่มเนื้อ และช่วยให้ชิ้นงานมีความแกร่งมากขึ้น ผงเบา thixotropic ที่ช่วยลดการไหลของเรซิ่นสำหรับการทำงานแนวตั้ง สีสำหรับผสมเรซิ่น สารป้องกันการลามไฟ สารลดกลิ่น สารป้องกันรังสียูวี เป็นต้น การผสมสารเติมแต่งเรซิ่นจะต้องมั่นใจว่าผสมได้เป็นเนื้อเดียวกันดี ฟองอากาศต้องให้มีน้อยที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อความแข็งแรงของชิ้นงานที่จะออกมา ส่วนผสมนี่ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เช่น ตัวเร่งปฎิกิริยาที่เกินกำหนดแม้จะทำให้ชิ้นงานแห้งเร็ว แต่ก็อาจทำให้ทำงานไม่ทันเรซิ่นก็เริ่มเป็นเจลต้องเททิ้ง และยังทำให้ชิ้นงานเปราะได้ หรือผงแคลเซียมคาร์บอเนตถ้าใส่มากเกินไปก็จะไปมีผลกระทบต่อทั้งเวลาในการแข็งตัวและความแข็งแรงของชิ้นงานเช่นกัน
อีพ็อกซี่เรซิ่น [Epoxy Resin] คืออะไร?
อีพ็อกซี่เรซิ่น (Epoxy Resin) คือ สารเคมีที่มีคุณสมบัติให้ความแข็งและความงาม ไม่มีกลิ่นฉุน ผสมง่าย เกิดความร้อนน้อย หดตัวน้อย ใช้ระยะเวลาในการทำชิ้นงาน 2-6 ชั่วโมง หรือ แข็งแรงสมบูรณ์ที่ 24 ชั่วโมง สำหรับความแข็งแรงสูงสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนผสม part A : part B ไม่ต้องใช้ความร้อนในการทำให้ อีพ็อกซี่เรซิ่นเซทตัว แข็งตัว ทำให้ใช้งานง่าย ลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดเวลาทำงานได้เยอะเมื่อเซทตัวแล้ว มีความแข็งแรง มีสีค่อนข้างใส ไม่แตกหักง่าย ไม่ละลายน้ำ
อีพ็อกซี่เรซิ่น (Epoxy Resin) จัดอยู่ในกลุ่ม Thermosetting Polymer ความหมายคือ เมื่อผ่านกระบวนการผลิต ในครั้งแรกแล้วจะมีความแข็งแรงทนทานมาก ไม่คืนรูปและไม่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้
อีพ็อกซี่ เป็น Copolymer ที่หมายถึงโพลีเมอร์ที่ประกอบด้วยโมโนเมอร์ตั้งแต่2ชนิดขึ้นไป โดยปกติ Epoxy Resin ได้จากการทำปฎิกิริยาของ Bisphenol A กับ Epichlorohydrin Monomer และ สารเพิ่มความแข็ง ( Hardender ) ประเภท Polyamine ระยะเวลาการเซทตัว ขึ้นอยู่กับ ปริมาณการใช้งานในครั้งนั้นๆ เช่นการผสม part A + part B ปริมาณมาก จะทำให้เกิดปฎิกิริยาได้เร็ว และ มีความร้อนสะสมมากกว่า สามารถเร่งให้เซตตัวได้เร็วขึ้นด้วยความร้อน
ประโยชน์ของอีพ็อกซี่เรซิ่น
อีพ็อกซี่เรซิ่น เรามีประโยชน์ในการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบและหลายอุตสาหกรรม แต่หลัก ๆ มีดังนี้
1.การเคลือบผิว
ด้วยคุณสมบัติใส เงา เรียบ ผิววาววับ กันน้ำได้ดี มีความทนทาน และสามารถเคลือบได้บนวัสดุหลายประเภท ใช้เคลือบผิวอาคาร พื้นอาคาร พื้นโรงงาน เคลือบกันสารเคมี ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารที่น้ำมันและอาหารหกใส่ อาจทำให้พื้นลื่นได้ การเคลือบผิวด้วย อีพ็อกซี่เรซิ่น จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสะอาดนี้ได้ง่าย ป้องกันเชื้อโรค เชื้อรา และ แบคทีเรีย ใช้เคลือบภายในถังบรรจุสารเคมี เคลือบเพื่อใช้เป็นแบบแม่พิมพ์หล่อชิ้นงาน ใช้ผสมในสีเพื่อเพิ่มการยึดเกาะ แข็งแรง ทนการขีดข่วนได้ดี เคลือบผิวแล้วชิ้นงานแข็งแรง รับแรงกระแทกได้ดี
2.การหล่อขึ้นรูป ใช้หล่อเป็นฉนวนไฟฟ้าในการผลิตมอเตอร์ หม้อแปลง
3.ใช้เป็นกาวที่ใช้ติดสิ่งของ
ยึดไม้ เหล็ก ไฟเบอร์ แก้ว พลาสติก คอนกรีต ปูน เครื่องสุขภัณฑ์ ตัวเรือนเครื่องประดับ
โพลีเอสเตอร์เรซิ่น กับ อีพ็อกซี่เรซิ่น ต่างกันอย่างไร?
โพลีเอสเตอร์เรซิ่น คืออะไร
สารที่ได้จากยางเหนียวของต้นไม้หรือจากการสังเคราะห์ขึ้นมา โพลีเอสเตอร์เรซิ่นเป็นชนิดนึงของ
เทอร์โมเซ็ทติ้ง พลาสติก ซึ่งเป็นเรซิ่นที่นิยมใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรม สาเหตุหลักมาจากต้นทุนที่ต่ำกว่าและความสะดวกในการใช้งาน โพลีเอสเตอร์เรซิ่นส่วนใหญ่มักจะยึดติดบนพื้นผิว
ข้อดี ของโพลีเอสเตอร์
– ค่าใช้จ่ายต่ำ
– ความสะดวกในการทำงาน
– สามารถเจือจางได้ด้วย โมโนสไตรีน
– เงางามด้วยการขัดและปัดเงา
อีพ็อกซี่เรซิ่น คืออะไร
เรซิ่นที่ได้รับความนิยมเช่นกันกับโพลีเอสเตอร์เรซิ่น แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างจากโพลีเอสเตอร์เรซิ่นที่มีความนิยมใช้กัน อีพ็อกซี่เหมาะสำหรับชิ้นส่วนประสิทธิภาพสูงและน้ำหนักเบา มีแรงดัดงอมากกว่าโพลีเอสเตอร์เรซิ่นมาก และมีการหดตัวเพียงเล็กน้อย
อีพ็อกซี่เป็นเรซิ่นที่เหนือกว่าและมักถูกเลือกใช้เมื่อทำงานกับการเสริมแรงด้วยคาร์บอนและเคฟลาร์ หากการต้านทานความชื้นเป็นสิ่งสำคัญ คุณจะต้องเลือกอีพ็อกซี่ อีพ็อกซี่เรซิ่นยังมีแรงยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงกว่าโพลีเอสเตอร์เรซิ่นมาก
ข้อดี ของอีพ็อกซี่
– ไม่มีกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นฉุน
– การหดตัวเล็กน้อยกว่า
– ป้องกันพื้นผิวจากความชื้น
– ความสะดวกในการผสมให้เข้ากัน
– ความสามารถในการยึดเกาะไม้เหล็กอลูมิเนียมพื้นผิวที่ไม่มีรูพรุนอื่น ๆ
ต่างกันยังไงบ้าง
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่น จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า อีพ็อกซี่เรซิ่น
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่น จะมีกลิ่นฉุนกว่า อีพ็อกซี่เรซิ่น
- อีพ็อกซี่เรซิ่น จะมีเนื้อหนา นูนกว่า โพลีเอสเตอร์เรซิ่น
- อีพ็อกซี่เรซิ่น ผสมงานง่ายกว่า โพลีเอสเตอร์เรซิ่น
- อีพ็อกซี่เรซิ่น เมื่อแห้งแล้วไม่จำเป็นต้องขัด โพลีเอสเตอร์เรซิ่น เมื่อแห้งแล้วผิวจะเหนอะจำเป็นต้องขัด
สนใจติดต่อ เวิลด์เคมีคอล กรุ๊ป ผู้นําด้านการจําหน่ายและนำเข้า สารเคมีภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ และ ขนาดย่อม ประเภท เคมีอุตสาหกรรม เคมีทําความสะอาด เคมีสระว่ายน้ำ เคมีบำบัดน้ำ เคมีงานปั้น-งานหล่อ เคมีอาหาร กลิ่น สารสกัด สี น้ำหอม เคมีเครื่องสำอาง อาทิ กลีเซอรีน โซดาไฟเกล็ด โซเดียมเมต้าไบซัลไฟต์ เอทิลแอลกอฮอล์ ฯลฯ สารพัดด้านเคมี เวิลด์เคมิคอล กรุ๊ป พร้อมให้บริการและให้ปรึกษากับลูกค้าทุกท่าน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line ID : @worldchemical
Facebook : https://www.facebook.com/chemical.chiangmai
เว็บไซต์ : www.worldchemical.co.th
โทร : 053 204 446-7