คุณสมบัติ
โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (คลอรีนน้ำ 10%)
สารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในน้ำยาซักผ้าขาวที่ผู้ผลิตนิยมใช้คือ “โซเดียมไฮโปคลอไรท์”
ซึ่งนอกจะมีคุณสมบัติในการขจัดคราบเปื้อนและฟอกผ้าขาว ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ด้วย ในบางกรณีจึงมีการนำน้ำยาซักผ้าขาวมาใช้ประโยชน์เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับราดพื้น เช่น ในช่วงเหตุการณ์สึนามิ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มี ส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ความเข้มข้น 0.5 – 1% ราดบริเวณพื้นที่ต้องการฆ่าเชื้อรวมไปถึงทั้งการใช้ล้างพาหนะที่ขนย้ายผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามต้องระวังการใช้กับวัตถุที่เป็นโลหะหนัก เช่น เหล็ก ทองแดง และ นิคเกิล เป็นต้น
โครงสร้างทางเคมีและกลไกการขจัดคราบของคลอรีนน้ำ 10%
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีโครงสร้างทางเคมีคือ NaOCl ในน้ำยาซักผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์ จะแตกตัวออกเป็น Na+และ ClO- ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเกลือ NaOH และ HClO โซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารออกซิแดนท์ที่รุนแรง เกิดการปลดปล่อยแอคทีฟออกซิเจน [O] ที่เป็นตัวการในการฟอกขาวให้กับเสื้อผ้านั่นเอง ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวบางชนิดอาจมีส่วนผสมของเกลือ NaOH อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อทำให้สารมีความเป็นด่าง เพราะในบางครั้ง หากน้ำที่ใช้ตามบ้านมีความเป็นกรดเล็กน้อย จะไปทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เกิดเป็นก๊าซคลอรีน ซึ่งมีความเป็นพิษและยังลดประสิทธิภาพการทำงานของน้ำยาซักผ้าขาว การเติม โซดาไฟ NaOH จึงจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องระวังในแง่การใช้ เพราะการที่น้ำยาซักผ้าขาวมีความเป็นด่างสูงมากขึ้นจากการเติมเกลือดังกล่าว ประกอบกับการมีโซเดียมไฮโปคลอไรท์ จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงขึ้น หากหกโดนเสื้อผ้าสวย ๆ โดยตรง อาจทำให้ขาดเป็นรูได้ จึงต้องอ่านฉลากแนะนำการใช้ให้ดีว่าควรต้องเจือจางด้วยน้ำในปริมาณเท่าใด
อาการพิษ
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่อยู่ในน้ำยาซักผ้าขาว มีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรง คุณแม่บ้านที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะควรเก็บให้พ้นมือจากเจ้าตัวเล็กทั้งหลาย เพราะหากเผลอรับประทานเข้าไปแล้ว จะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุที่ปากและลำคอ ปวดท้องและแผลเปื่อยตามบริเวณทางเดินอาหาร ในกรณีที่หากเผลอเทหกจากขวดรดมือโดยตรง อาจเกิดการระคายเคืองได้ปานกลางและมีผื่นแดงได้บ้าง แต่หากกระเด็นเข้าตาแล้วจะเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง หากสูดดมโดยตรงจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของทางเดินหายใจได้ แต่ที่พอจะสบายใจได้ในระดับหนึ่งสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์นี้คือ ยังไม่มีรายงานการก่อมะเร็งโดยการใช้น้ำยาซักผ้าขาวที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นองค์ประกอบ
ข้อควรระวัง
นอกเหนือไปจากการที่ต้องระวังการสัมผัสผลิตภัณฑ์โดยตรงแล้ว หากในบ้านมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นๆ อยู่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่เทสารเหล่านี้ปนกัน โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีกรดเป็นองค์ประกอบ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำบางชนิด เพราะกรดจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เกิดกาซคลอรีนในระหว่างการผสมและหากเกิดการสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดพิษ ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ และยังทำให้ประสิทธิภาพในการขจัดคราบของน้ำยาซักผ้าขาวที่มีการปนเปื้อนของกรดนั้นลดลง นอกจากนี้ยังต้องระวังการผสมกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนียเป็นองค์ประกอบ
เช่น ในน้ำยาเช็ดกระจก เพราะจะทำให้เกิดกาซคลอรามีน (chloramine) ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นกัน และไม่ควรนำมาทำความสะอาดเสื้อผ้าที่เปื้อนปัสสาวะ เพราะในปัสสาวะมีแอมโมเนียอยู่ อย่างไรก็ตามก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้งควรอ่านฉลากการใช้ให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น
การปฐมพยาบาล
หากคุณแม่บ้านหรือสมาชิกในบ้านเผลอตัวไปสัมผัสเข้าโดยตรง ไม่ต้องตกใจให้รีบปฏิบัติดังนี้
– ถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ฉีดล้างผิวหนังด้วยน้ำปริมาณมากๆ
– ถ้าสัมผัสถูกตา ให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที พร้อมกระพริบตาถี่ๆขณะทำการล้าง หากมีอาการรุนแรงให้นำส่งไปพบแพทย์
– ถ้าหายใจเข้าไป ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์
– หากมีอาการรุนแรงให้นำส่งไปพบแพทย์
– ถ้ากลืนหรือกินเข้าไป ห้ามไม่ให้สิ่งใดเข้าปากผู้ป่วยที่หมดสติ
– หากผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ดื่มสารละลายโปรตีน หรือ ถ้าไม่สามารถหาได้ก็ให้ดื่มน้ำปริมาณมากๆ อย่าให้ผู้ป่วยดื่มน้ำส้ม เบคกิงโซดา ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด จากนั้นให้นำส่งไปพบแพทย์
การเก็บรักษา
บางครั้งคุณแม่บ้านบางท่านอาจอยากเปลี่ยนขวดภาชนะบรรจุให้สวยงามขึ้น
ก็สามารถทำได้แต่ต้องถ่ายเก็บในภาชนะพลาสติกประเภท PVC อย่าถ่ายลงหรือเจือจางผสมน้ำ
ในภาชนะประเภทโลหะหนัก เช่น กะละมังโลหะเพราะจะทำปฏิกิริยากันได้
นอกจากนี้ควรเก็บให้พ้นจากความร้อน แสงแดด
เพราะผลิตภัณฑ์จะมีอายุการใช้งานและประสิทธิภาพต่ำลง
สูตรปริมาณการคำนวณ
ถ้าเป็นพื้นห้องธรรมดา ใช้คลอรีนเข้มข้นประมาณ 200 ppm แต่ถ้าเป็นพื้นห้องน้ำ (พื้นที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลมาก) จะใช้คลอรีนเข้มข้นประมาณ 600 ppm ค่ะ
คลอรีนน้ำ 10% มี คลอรีน = 100,000 ppm*
[*ppm = part per million หรือ ส่วนในล้านส่วน เช่น คลอรีนในน้ำเข้มข้น 1 ppm หมายถึง น้ำ 1,000,000 มิลลิลิตร มี คลอรีน 1 มิลลิลิตร]
ตัวอย่างการคำนวน เมื่อต้องการเจือจางให้ได้คลอรีนความเข้มข้น 200 ppm จำนวน 1,000 ml
สูตรคำนวน M1 x V1 = M2 x V2
M1 = ความเข้มของคลอรีนน้ำ 10%
V2 = ปริมาตรของคลอรีนน้ำ 10%
M2 = ความเข้มข้นของคลอรีนที่ต้องการเตรียม
V2 = ปริมาตรของคลอรีนที่ต้องการเตรียม
100,000 ppm x V1 ml = 200 ppm x 1,000 ml
V1 = (200 x 1,000) / 100,000 = 2 ml
ใช้คลอรีนน้ำ 10% 2 ml + น้ำ 998 ml