ความแตกต่างของโพลิเมอร์(สารอุ้มน้ำ)และดินวิทยาศาสตร์

สูตรและกระบวนการผลิต “โพลิเมอร์ สารอุ้มน้ำ ” คิดค้นขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติการอุ้มน้ำของดินในแปลงปลูกพืชที่มีพื้นที่แห้งแล้ง หรือใช้ผสมกับดินเพื่อปลูกพืชในอาคารบ้านเรือน ช่วยลดระยะเวลาในการให้น้ำ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก

สารอุ้มน้ำ ซึ่งก็คือโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือ superabsorbent polymer (SAP) มีแรงยึดน้ำที่อุ้มไว้ต่ำกว่าแรงดึงจากพืช รากสามารถเจริญ แทงผ่านเข้าไปในโพลีเมอร์เปียกได้ปรุโปร่งราก สามารถดึงดูดน้ำออกจากโพลีเมอร์ได้จนน้ำหยดสุดท้าย โดยโพลีเมอร์ไม่สามารถดึงน้ำออกจากพืชได้เลย โพลีเมอร์เปียกจะถูกดูดน้ำไปเรื่อย ๆ จนแห้งและยุบลงจนเหลือขนาดเล็กนิดเดียว ซึ่งกลายเป็นโพรงที่ว่างอยู่ในพื้นดิน ถ้ารดน้ำหรือฝนตกอีก น้ำจะเข้าไปในโพรงนี้ โพลีเมอร์จะเปียกและอุ้มน้ำได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามีน้ำมากเกินความสามารถที่จะอุ้มน้ำได้ น้ำส่วนเกินก็จะไหลซึมลงดินตามปกติ

การใช้โพลีเมอร์รองก้นหลุมก่อนปลูกกล้านั้น ทำให้กล้าที่นำไปปลูกได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ น้ำช่วยในการละลายแร่ธาตุอาหารสำหรับพืช น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในขบวนการสังเคราะห์แสง การลำเลียงอาหาร กล้าไม้จึงมีอัตราการรอดตายสูงสามารถตั้งตัวได้เร็ว และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะน้ำฝนที่ตกลงมาบางส่วนจะถูกสะสมไว้ ไม่ไหลซึมไปโดยเปล่าประโยชน์

บริเวณที่มีโพลิเมอร์อยู่จะมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา จุลินทรีย์จะเกาะติดกับอนุภาคดินมี ลักษณะเป็นเมือกบาง ๆ ช่วยอุ้มน้ำได้ส่วนหนึ่ง เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ดินบริเวณนี้จะค่อยๆ อุ้มน้ำได้ดีขึ้นเองเพราะจุลินทรีย์ เนื่องจากกิจกรรมของจุลินทรีย์เป็นไปด้วยดี มี ผลพลอยได้เป็นสารฮิวมิค แอซิด กระตุ้นการเจริญของรากและทำให้ดินร่วนซุย

โพลิเมอร์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปี จุลินทรีย์จะค่อย ๆ ย่อยสลายโพลีเมอร์ให้แตกตัวไปจนกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด สำหรับการใช้ในพื้นที่เป็นดินเหนียว ที่อาจมีประเด็นปัญหาที่การระบายน้ำ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรใส่วัสดุอื่น เช่น แกลบ ปุ๋ยคอก เศษพืชต่าง ๆ ผสมเข้าไปกับโพลีเมอร์ด้วย

โพลิเมอร์(สารอุ้มน้ำ) คือ สารประเภทคาร์โบไฮเดรตมีโครงสร้างเป็นโพลิแอกติลามาย มีโครงสร้างขนาดใหญ่หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า”สารอุ้มน้ำ” การ ดูดน้ำจะเป็นไปอย่างรวดเร็วมากใน 5 นาทีแรก คือดูดน้ำได้ 200-400 เท่าแต่ถ้าน้ำมีเกลือ หินปูน กรด ด่าง เจือปนอยู่ก็จะดูดน้ำได้น้อยลง คือไม่ถึง 400 เท่า แต่อย่างไรก็ไม่ต่ำกว่า 100 เท่า

แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่อุดดมสมบูรณ์จะสามารถปลูกพืชผลได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ภัยแล้งที่ค่อนข้างยาวนาน 5-6 เดือน ทำให้พืชผลการเกษตรที่เพิ่งปลูกต้องตายเป็นจำนวนไม่น้อย ก่อให้เกิดความกังวลใจและทำให้ผู้ปลูกต้องเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย ๆ นับตั้งแต่ค่าแรงปลูกซ่อม, ค่าพันธุ์พืชใหม่ และการดูแลอย่างดีพิเศษเพื่อให้ต้นไม้พืชผลรอดตายและเจริญเติบโตให้ผลผลิตตามต้องการได้

 

 

ประโยชน์

  • ใช้ปลูกยาง ปลูกปาล์ม หรือปลูกป่าโดยรองก้นหลุมปลูกแล้วพบว่าต้นกล้าที่ปลูกลงไปนั้นรอดตายแทบทั้งหมดคือ 99 %
  • ใช้กับไม้กระถางหรือถุงเพาะชำโดยผสมดิน 6 ส่วนกับโพลิเมอร์ที่แช่น้ำ 1 ส่วน
  • ใช้กับการปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย ระกำ ลางสาด ลองกอง
  • ในแปลง พืชไร่ พืชผัก ไม้ประดับ และสนามหญ้า ใช้โพลิเมอร์แห้ง 1-10 กรัมต่อหลุมไม้ผลไม้ยืนต้นใช้โพลิเมอร์แห้งตั้งแต่ 5-10 กรัมต่อต้น

วิธีใช้โพลิเมอร์(สารอุ้มน้ำ) ในการปลูกยางพารา/ปาล์มน้ำมัน/พืชยืนต้นทุกชนิด

โพลิเมอร์ Alcosorb 1 กิโลกรัม ใช้ปลูกยางได้ ประมาณ 200-400 ต้น ซึ่งมีขั้นตอนคร่าว ๆ ดังนี้

  1. แช่โพลิเมอร์ให้ดูดน้ำให้เต็มที่(โพลิเมอร์ 1 ก.ก.ต่อน้ำ 200 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 4 ชม. หรือค้างคืน)
  2. ในวันปลูกยาง ให้รองก้นหลุมด้วยโพลิเมอร์ที่แช่น้ำแล้ว 1 กระป๋องนม
  3. นำต้นยางลงปลูกโดยตั้งลงบนโพลิเมอร์ แล้วถมดินลงไปครึ่งหนึ่งของตุ้มดินที่หุ้มรากยางอยู่
  4. เทโพลิเมอร์อีก 1-2 กระป๋องนมลงรอบ ๆ ตุ้มดินที่หุ้มรากยางอยู่ (ในเขตแห้งแล้งมาก ๆ ในขั้นตอนนี้แนะนำให้ใส่ 2 กระป๋องนม)
  5. กลบและอัดดินให้แน่น ตามวิธีการปลูกยางตามปกติ
  6. หลังจากใช้โพลิเมอร์แล้ว พื้นดินควรได้รับน้ำบ้าง 2-3 เดือนต่อครั้ง และหากทำการคลุมโคนด้วยหญ้าแห้งหรือเศษวัสดุทางการเกษตรได้ ก็จะทำให้คุณสมบัติการดูดเก็บน้ำของ โพลิเมอร์ ดีมากยิ่งขึ้น

หากต้อง การใช้กับยางที่ปลูกแล้วก็สามารถใช้ได้เช่นกัน หลักการก็คือต้องฝังโพลิเมอร์ลงในดินบริเวณปลาย ๆ ราก หากเป็นยางที่ปลูกแล้ว 1-2 ปี ก็ควรขุดหลุมลึกประมาณ 20 ซม.(ควรทำในช่วงดินนุ่ม ๆ ) สัก 2-3 หลุม แล้วใส่โพลิเมอร์ที่แช่น้ำแล้วหลุมละ 1 กระป๋องนม แล้วกลบดิน ทำเป็นแอ่งไว้รับน้ำหน่อยก็ดี ถ้าให้ดีขึ้นอีก ก็ควรคลุมโคนก่อนเข้าหน้าแล้งด้วย ครับ

จุดเด่น

  • ปลอดภัยไม่ทำลายคุณภาพของดิน
  • เพิ่มคุณสมบัติการอุ้มน้ำของดิน
  • เพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์พืชธรรมชาติ

ตลาด/กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

  • เกษตรกร
  • ผู้ที่ต้องการเพาะปลูกในบ้านเรือนทั่วไป

 

ดินวิทยาศาสตร์ คืออะไร

ดินวิทยาศาสตร์ (Magic crystal soil, Crystal-Soil, Water Crystals, Water Beads) คือ วัสดุชนิดหนึ่งที่ผลิตมาจากโพลิเมอร์ (Polymer) ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้อย่างยิ่งยวด (Super Absorbent Polymers: SAPs) มีสารประกอบสำคัญได้แก่ โพลีอะครีลาไมด์ (Polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (Vinyl Acetate-Ethylene Copolymer) จึงทำให้วัสดุเหล่านี้สามารถดูดซับของเหลวได้สูงสุด 50-500 เท่าของน้ำหนักตัวแบบแห้ง และสามารถกักเก็บของเหลวไว้กับตัวได้นานมากถึง 2 เดือน

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของโพลิเมอร์ชนิดนี้ จึงได้มีการประยุกต์ใช้อย่างหลากหลายทั้งทางการแพทย์ เช่น ผ้าพันแผลหรือวัสดุสำหรับปิดแผลไฟไหม้ หรือใช้ในด้านการเกษตร โดยใช้สำหรับการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน หรือใช้สำหรับการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ แทนดินจากธรรมชาติ จึงมีชื่อเรียกว่าดินวิทยาศาสตร์

นอกไปจากโพลีอะครีลาไมด์ (Polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (Vinyl Acetate-Ethylene Copolymer) แล้วนั้น ยังมีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำตัวอื่น ๆ เช่น สารโพลิอะคริลิกแอซิด (Polyacrylic Acid) สารโซเดียมโพลิอะคริเลต (Sodium Polyacrylate) แต่จะนิยมนำมาใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป เช่น ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำหรับเด็กเล็ก แผ่นรองซับปัสสาวะ เป็นต้น

คุณสมบัติของดินวิทยาศาสตร์

ดินวิทยาศาสตร์ผลิตมาจากโพลิเมอร์ที่สามารถดูดซับน้ำได้อย่างยิ่งยวด (SAPs) สามารถดูดซับและกักเก็บของเหลวหรือน้ำไว้กับตัวได้มากถึง 50-500 เท่าของน้ำหนักตัว และสามารถกักเก็บน้ำอยู่กับตัวได้นานหลายเดือน สามารถใช้ปลูกต้นไม้แทนดินธรรมชาติ และสามารถใช้ผสมลงในดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินได้

ดินวิทยาศาสตร์มีความทนทานและมีความคงตัวสูง หลังจากดูดซับของเหลวสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

ดินวิทยาศาสตร์ที่พองตัวออกในรูปแบบของเนื้อเจลทั้งแบบชิ้นและแบบก้อนกลม (Crystals) จึงมีช่องว่างระหว่างโมเลกุลค่อนข้างมาก เมื่อนำไปใช้ปลูกต้นไม้จะช่วยทำให้รากของต้นไม้สามารถชอนไชและดูดซึมของเหลวที่อยู่ในดินวิทยาศาสตร์ได้โดยง่าย ทำให้พืชได้รับน้ำและสารอาหารต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ดินวิทยาศาสตร์มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนวัสดุ ภาชนะ และไม่ระคายเคืองต่อผิว

มีความคงตัวและไม่เสื่อมสภาพเมื่อสัมผัสกับแสงแดด (Photostability)

วิธีใช้ดินวิทยาศาสตร์

สามารถเตรียมดินวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ๆ เพียงนำดินวิทยาศาสตร์แช่ไว้ในน้ำสะอาด ใช้เวลาในการแช่ประมาณ 8-10 ชั่วโมง หรืออาจแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ตัวโพลิเมอร์จะดูดซับน้ำและพองตัวออกจนมีลักษณะเป็นเนื้อเจลสีใส (ทั้งแบบเนื้อละเอียดและแบบก้อน) จากนั้นก็สามารถนำดินวิทยาศาสตร์ไปใช้สำหรับปลูกต้นไม้ได้ทันที โดยสามารถใช้ได้หลากหลายวิธี

ใช้ดินวิทยาศาสตร์ (ที่แช่น้ำแล้ว) เพื่อปลูกไม้ประดับหรือไม้กระถางในร่ม ทั้งนี้ต้นไม้บางชนิดจะต้องปลูกแบบมีน้ำท่วม คือ ใช้ดินวิทยาศาสตร์ใส่ลงในภาชนะจากนั้นเติมน้ำลงไปจนเต็มแล้วจึงใส่ต้นไม้ลงไป หรือใช้แค่เพียงดินวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวแต่ไม่ต้องเติมน้ำจนท่วม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ไม้ที่ปลูก

ใช้ดินวิทยาศาสตร์ 1 ส่วน ผสมเข้ากับดินธรรมชาติ 6 ส่วน (สามารถใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปได้) จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันดี นำไปใช้ปลูกต้นไม้หรือใช้ในแปลงเพาะต้นกล้า ดินวิทยาศาสตร์ที่อุ้มน้ำจะช่วยบำรุงให้ต้นไม้หรือต้นกล้าเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาที่ต้องใช้ในการดูแลหรือรดน้ำ

ดินวิทยาศาสตร์ ใช้ปลูกอะไร

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำไว้กับตัวได้อย่างดีเยี่ยมของดินวิทยาศาสตร์ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำ หรือเป็นต้นไม้ที่ต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ ได้แก่

  • ต้นไม้ตระกูลพลูประดับ เช่น พลูฉลุ พลูด่าง ราชินีสีทอง พลูราชินีหินอ่อน พลูหัวใจแนบ พลูอินโดนิเซียฯลฯ
  • ต้นไม้ตระกูลไผ่กวนอิม เช่น กวนอิมหยก กวนอิมทอง กวนอิมเงิน กวนอิมดอกบัว
  • ต้นไม้ตระกูลบอนสี เช่น ต้นเงินไหลมา ออมเงิน ออมทอง ออมนาค ออมชมพู ต้นซินโกเนียม ต้นแก้วกาญจนา (เขียวหมื่นปี) ต้นสาวน้อยประแป้ง ต้นฟิโลเลนดรอน
  • ต้นไม้อื่น ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตในน้ำ เช่น คล้าหางนกยูง ต้นลิ้นมังกร ต้นเล็บครุฑ ต้นแคกตัส ต้นอิงลิช ไอวี่ (English Ivy) ต้นเปปเปอร์โรเนีย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ดินวิทยาศาสตร์ผสมเข้ากับดินธรรมชาติ เพื่อปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผักต่าง ๆ รวมไปจนถึงใช้ปลูกหญ้าในสนามหญ้าหรือสนามกอล์ฟ

ข้อดีของดินวิทยาศาสตร์

  • ช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก ด้วยการเพิ่มและรักษาความชุ่มชื้นในดินได้มากถึง 30% ช่วยประหยัดน้ำและลดการใช้แรงงาน เพราะไม่ต้องเสียเวลามารดน้ำต้นไม้บ่อย ๆ
  • ดินวิทยาศาสตร์ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในพันธุ์พืช ซึ่งมักเกิดจากเชื้อโรค แบคทีเรียและเชื้อราที่อยู่ในดินจริง จึงช่วยเพิ่มอัตราการรอดของพันธุ์ไม้
  • ช่วยลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินความจำเป็น เพราะดินวิทยาศาสตร์จะช่วยดูดซับเอาสารเหล่านี้ไว้กับตัวและปล่อยออกมาอย่างช้า ๆ จึงสามารถขยายระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของปุ๋ยและสารเคมี
  • ใช้รักษาความชุ่มชื้นให้กับรากของต้นไม้ในระหว่างการขนส่ง โดยสามารถใช้ดินวิทยาศาสตร์พอกที่บริเวณรากของต้นไม้ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับราก และป้องกันไม่ให้ต้นไม้เหี่ยวเฉาหรือตายไปในระหว่างการขนส่ง
  • สามารถนำดินวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย ทั้งการปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อการเพาะปลูกในป่าไม้ การเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ ตลอดไปจนถึงการปลูกต้นไม้ในครัวเรือน
  • ดินวิทยาศาสตร์สามารถสลายตัวได้ในธรรมชาติ ด้วยอัตราการสลายตัวที่ประมาณ 10-15%/ปี ดินวิทยาศาสตร์จึงเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นมลพิษหรือสร้างอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
  • ดินวิทยาศาสตร์สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีราคาประหยัด

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

นอกไปจากการใช้ดินวิทยาศาสตร์เพื่อการเพาะปลูกต้นไม้หรือใช้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินแล้วนั้น ยังสามารถนำดินวิทยาศาสตร์ไปใช้ได้อย่างหลากหลาย เช่น

  • ใช้เพื่อยืดอายุให้กับดอกไม้ในแจกัน คล้ายกับการใช้ก้อนโอเอซิส
  • เจลน้ำหอมจากดินวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้เพิ่มความหอมให้กับห้องทำงาน ห้องน้ำ หรือในรถ
  • ใช้ประดับตกแต่งเพิ่มความสวยงามให้กับตู้พรรณไม้น้ำ ตู้ปลา หรือใช้สำหรับการจัดแต่งสวนถาด
  • ดินวิทยาศาสตร์ยังสามารถใช้ใส่ในแหล่งน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ ช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง เป็นต้น
  • ใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน เสริมสร้างทักษะให้กับเด็กเล็กทั่วไป และสามารถใช้เสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กพิเศษ เช่น กลุ่มผู้ป่วยออทิสซึม (Autism) ช่วยฝึกทักษะการนับเลข การแยกแยะสี การพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เพื่อฝึกให้เด็กสามารถควบคุมการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อมือและตา (Hand & Eye Coordination) เป็นต้น

ข้อควรระวังในการใช้ดินวิทยาศาสตร์

ดินวิทยาศาสตร์เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย ไม่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อน ไม่เป็นพิษหรือทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิว ทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ จึงเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูง แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ดินวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน

  • ควรเก็บดินวิทยาศาสตร์ให้พ้นมือเด็ก เพราะหากเด็กเผลอนำเข้าปาก อาจทำให้สำลักหรืออุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออกอย่างเฉียบพลันและส่งผลให้เสียชีวิตได้ หรือในกรณีที่เด็กกลืนเข้าไป ก็จะส่งผลให้ดินวิทยาศาสตร์เข้าไปอุดตันในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ขัดขวางระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและมีระดับเกลือแร่ที่ผิดปกติในร่างกาย ทำให้วิงเวียนศีรษะ อาเจียน รวมถึงทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก หากเข้ารับการรักษาและผ่าตัดเพื่อนำดินวิทยาศาสตร์ออกจากช่องท้องไม่ทัน ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
  • เก็บดินวิทยาศาสตร์ให้พ้นจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน
  • ห้ามทิ้งดินวิทยาศาสตร์ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ

สรุปคือ ดินวิทยาศาสตร์นั้นเหมาะกับการนำไปปลูกจำพวกไม้ประดับ หรือต้นไม้ขนาดเล็กในแจกันเท่านั้น ส่วนโพลิเมอร์จะเหมาะกับไม่ยืนต้น หรือไม้ผลต้นใหญ่ โดยการฝังไว้ชั้นใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกได้ค่ะ

                                                                                 

 

สนใจติดต่อ เวิลด์เคมีคอล กรุ๊ป ผู้นําด้านการจําหน่ายและนำเข้า สารเคมีภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ และ ขนาดย่อม ประเภท เคมีอุตสาหกรรม เคมีทําความสะอาด เคมีสระว่ายน้ำ เคมีบำบัดน้ำ เคมีงานปั้น-งานหล่อ เคมีอาหาร กลิ่น สารสกัด สี น้ำหอม เคมีเครื่องสำอาง อาทิ กลีเซอรีน โซดาไฟเกล็ด โซเดียมเมต้าไบซัลไฟต์ เอทิลแอลกอฮอล์ ฯลฯ สารพัดด้านเคมี เวิลด์เคมิคอล กรุ๊ป พร้อมให้บริการและให้ปรึกษากับลูกค้าทุกท่าน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line ID : @worldchemical
Facebook : https://www.facebook.com/chemical.chiangmai
เว็บไซต์ : www.worldchemical.co.th
โทร : 053 204 446-7