สารกันเสีย สำหรับเครื่องสำอาง ที่ควรรู้จัก

สารกันเสีย เครื่องสำอาง (Phenoxyethanol) ขนาด 20 g | World Chemical Group

          ในเครื่องสำอางส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้เลยคือ ” สารกันเสีย ” ซึ่งจะช่วยยืดอายุเครื่องสำอางให้อยู่ได้นานขึ้น โดยเครื่องสำอางจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 1-3 ปี แล้วแต่ประเภทของเครื่องสำอาง สารกันเสีย ช่วยป้องกันเนื้อครีมจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนเข้ามาเมื่อเรามีการใช้งานเครื่องสำอางชิ้นนั้น โดย สารกันเสีย จะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ไม่ให้มีการเติบโต เช่น P.aeruginosa, S.aureus, C.albicans, A.niger ซึ่งเป็นเชื้อที่ตรวจพบในเครื่องสำอางและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สารกันเสีย ที่เราคุ้นเคยและได้ยินบ่อยๆ เช่น Parabens, Phenoxyethanol, Benzyl Alcohol, Triclosan, DMDM Hydantoin, Sodium Benzoate เป็น สารกันเสีย ที่ยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้แต่ปริมาณที่ใช้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายกำหนด

ปัจจุบัน สารกันเสีย มีการพัฒนามากขึ้น นอกจากจะยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้แล้วยังสามารถช่วยบำรุงผิวได้เช่นกัน TNP COSMECEUTICAL จะพาคุณไปรู้จักกับสารกันเสียที่ช่วยดูแลสุขภาพผิว ชื่อสารอาจจะคุ้นแต่คุณอาจจะไม่เคยรู้!

กรดซาลิไซลิก

ซาลิไซลิก หรือที่ทุกคน รู้จักกันในชื่อ BHA จัดเป็นสารกันเสียที่ช่วยดูแลผิวเป็นสิวได้อย่างดี ช่วยลดสิว ให้ผิวหน้าเรียบเนียน พร้อมผลัดเซลล์ผิวเก่าออกอย่างอ่อนโยน เผยผิวใหม่ที่ใสกว่าเดิม โดยซาลิไซลิกตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หากใช้เป็นสารกันเสียในสูตรห้ามเกิน 0.5% หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นห้ามเกิน 2% และห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี

เอททิลเฮกซิลกลีเซอริน

สารกันเสียแบบอ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว ใช้เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และมีผลต่อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่น ผลทดสอบที่ 1% ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และยังช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ลดการสูญเสียน้ำของผิว พร้อมให้ผิวรู้สึกนุ่ม เรียบลื่น

เบนซาลโคเนียมคลอไรด์

BKC มาจาก Alkyl Dimethyl Benzyl Ammonium Chlorides เป็นสารกันเสียที่ช่วยยับยั้ง Coronavirus ได้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส มีประสิทธิภาพในการยับยั้งสูงมาก ส่วนมากจะอยู่ในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล สเปรย์แอลกอฮอล์ เป็นต้น ใช้ในปริมาณน้อยมากไม่เกิน 0.1% ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

ซาลิกแอลบาบาร์ก

สารสกัดเปลือกวิลโลว์สีขาว เป็นสารกันเสียจากธรรมชาติ คิดค้นมาเพื่อเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิก มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมลบและแกรมบวกโดยเฉพาะ และยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ปราศจากการระคายเคือง หรือการแพ้ จัดเป็นสารที่เป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีสารสำคัญที่ได้จากธรรมชาติและมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเชื้อได้ (anti-microbial) ปริมาณที่ช่วยยับยั้งเชื้อสิว C.acne อยู่ที่ 0.4% และสามารถใช้ได้สูงสุด 1%

ซิลเวอร์

แร่เงิน มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเชื้อโรคได้กว้าง ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวก แกรมลบ เชื้อรา ใช้ในครีมที่ช่วยดูแลผิวมีปัญหา เช่น เป็นสิว ผิวแพ้ง่าย เกิดอาการระคายเคือง โดยแร่เงินจะเข้าไปช่วยยับยั้งเชื้อสิว ช่วยลดสิว ลดการแพ้ ลดการระคายเคือง

พีโอเนีย รูท

สารสกัดจากรากโบตั๋น ถือเป็นสารกันเสียจากธรรมชาติ มีประสิทธิภาพการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย ในด้านการดูแลผิวทำหน้าที่เป็นสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Anti-Tyrosinase) และสารต้านเมลานิน (Anti-Melanin) ช่วยลดเลือนจุดด่างดำ ปรับสีผิวเรียบเนียน ริ้วรอยแลดูจางลง ทำให้ผิวสว่างกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ

1,2-เฮกเซนไดออล

เป็นสารอินทรีย์สังเคราะห์ที่อยู่ในรูปของเหลว ใสและไม่มีสี มีคุณสมบัติการละลายน้ำที่ดี สามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ครีมนวดผม ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและกลิ่นกาย สบู่เหลวล้างมือเนื่องจากคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย (Antimicrobial Activity) ให้ความชุ่มชื้นได้ดีกับผิวและผม

กลีเซอริลแคปไพเลท

เป็นวัตถุดิบที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายคือ ทำให้ผิวนุ่ม เป็น co-emulsifier และสารยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และเป็นสารที่ได้มาจากธรรมชาติ สามารถใช้ได้ในครีม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และโลชั่น

 

สารกันเสียในเครื่งสำอาง

เครื่องสำอางที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็มีสารกันบูด มาทำความรู้จักกับเจ้าสารกันเสียในเครื่องสำอางกันค่ะ

สารกันเสีย (Preservative) เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อยีสต์ เพื่อป้องกันมิให้เครื่องสำอางเสียง่าย เช่นการเติมในครีมทาผิวเพราะมีการแต่งกลิ่นและอาจใช้แป้งเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการบูดเสียได้ จึงต้องใส่สารกันเสียป้องกัน

สารกันเสียที่ใช้สำหรับเครื่องสำอางมีหลายชนิด เช่น Bronopol (2-bromo-2-nitropropane-1,3-diol หรือ BNPD) ฟอร์มาดีไฮด์ (formaldehyde) อิมิดาโซลิดินิลยูเรีย (imidazolidinyl urea) เมทิลคลอโรไอโซไทอะโซลิโนน (methylisothiazolinone) และ ฟีโนซีเอทานอล (phenoxyethanol) EDTA (ethylene diamine tetreacetic acid) และสารกลุ่มพาราเบน (paraben) ได้แก่ เมทิลพาราเบน (methyl paraben) เอทิลพาราเบน (ethyl paraben) โพรพิลพาราเบน (propyl paraben) และ บิวทิลพาราเบน (butyl paraben)

กลไกการออกฤทธิ์

พาราเบน เป็นสารเอสเทอร์ของกรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก (para-hydroxybenzoic acid) ออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพแบบการยับยั้งเซลล์ (cytostatic activity) มากกว่าฆ่าเซลล์ (cytocidal activity) เมื่อใช้เดี่ยวๆ ออกฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดีมาก แต่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้จำกัด และเมื่อใช้ร่วมกัน เช่น เมทิลพาราเบนร่วมกับโพรพิลพาราเบน จะออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้น โดยออกฤทธิ์ต่อเชื้อแกรมบวกดีกว่าแกรมลบ ฤทธิ์การต้านเชื้อจะมีประสิทธิภาพดีที่ความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 3 – 8 ที่ความเป็นด่างมากกว่า 8 สารกลุ่มนี้ถูกไฮโดรไลซีสและหมดประสิทธิภาพการเป็นสารกันเสีย

เมื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านจุลชีพจากมากไปน้อยเป็นดังนี้ โพรพิลพาราเบน > เอทิลพาราเบน > เมทิลพาราเบน โดยจากสูตรโครงสร้างโพรพิลพาราเบนมีสายคาร์บอนที่ยาวที่สุด จึงแพร่เข้าเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อจุลชีพได้ดีกว่า จึงออกฤทธิ์ดีกว่าพาราเบนอื่นๆ

ประโยชน์

สารกลุ่มพาราเบน เป็นสารกันเสียที่ราคาไม่แพงและที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อใส่ในปริมาณที่กำหนด นิยมใช้กับเครื่องสำอางประเภท แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมทำความสะอาด ครีมสำหรับเล็บ น้ำยาดัดผมถาวร และ ยาสีฟัน

ปริมาณพาราเบนที่กำหนดไว้ได้แก่

  1. เมทิลพาราเบน (methyl paraben) ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.25 โดยน้ำหนัก
  2. โพรพิลพาราเบน (propyl paraben) ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.25 โดยน้ำหนัก
  3. เมทิลพาราเบน รวมกับโพรพิลพาราเบน ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.25 โดยน้ำหนัก

อาการแสดงและการวินิจฉัย

กลุ่มศึกษาอาการผืนสัมผัสของอเมริกาเหนือ (North American Contact Dermatitis group) รายงานผลการศึกษาสารในเครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ว่า สารกันเสียเป็นสารที่ทำให้ผู้ใช้เกิดการแพ้ ผื่นแพ้ และระคายเคือง (allergy irritation) เป็นอันดับที่สองรองจากน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่นหอม (fragrances) ซึ่งสารกันเสียที่พบการแพ้ได้บ่อยได้แก่ พาราเบน ฟอร์มาลดีไฮด์ อิมิดาโซลิดินิลยูเรีย เมทิลคลอโรไอโซไทอะโซลิโนน และ ฟีโนซีเอทานอล

ผื่นจากเครื่องสำอาง อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ผื่นแพ้สัมผัส Allergic contact dermatitis) ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis) ผื่นลมพิษสัมผัส (Contact urticaria) และสิวจากเครื่องสำอาง (Acne cosmetica) ที่พบบ่อยคือ ผื่นแพ้สัมผัสและผื่นระคายสัมผัส

การวินิจฉัย แพทย์ผิวหนังจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นการระคายเคืองหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการทดสอบภูมิแพ้ โดยการปิดบนผิวหนัง (patch test) แล้วดูว่าเป็นการแพ้หรือไม่เสียก่อน เนื่องจากยังไม่มีการทดสอบการระคายเคืองทางตรง

ข้อควรระวัง

สารกลุ่มพาราเบน เป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัย และไม่พบการก่อให้เกิดพิษอันตราย อย่างไรก็ตาม วารสารทางวิทยาศาสตร์รายงานผลการศึกษาในสัตว์ทดลองว่า เมื่อให้พาราเบนแก่หนูด้วยการรับประทาน พาราเบนจะออกฤทธิ์เลียนแบบ (mimic) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยกลไกการออกฤทธิ์พบว่าพาราเบนจะถูกเมแทบอไลส์ ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซีสโดยเอนไซม์เอสเทอร์เรส (esteraseenzyme) ทำให้สูญเสียหมู่เอสเทอร์ ได้สารเมแทบอไลส์ คือ กรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก ที่สามารถจับกับ estrogen receptor ในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าพาราเบนก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมในสตรี และมีบางการศึกษารายงานว่าการใช้เครื่องสำอางประเภทที่ใช้บริเวณผิวหนัง เช่น สเปรย์ฉีดร่างกาย หรือยาระงับกลิ่นกายที่มีพาราเบน พบว่าพาราเบนดูดซึมผ่านผิวหนังต่ำมาก และถูกเมแทบอไลส์ด้วยเซลล์ที่ผิวหนังได้สารที่ไม่มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน แม้ว่ายังมีรายงานที่ขัดแย้งกัน การใช้เครื่องสำอางที่มีพาราเบน ควรใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อผู้ใช้เกิดผื่นแพ้ ควรหยุดการใช้เครื่องสำอางนั้นๆ ทันที และสังเกตว่าผื่นค่อยๆ หายไปหรือไม่

Cr : พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535

 

สนใจติดต่อ เวิลด์เคมีคอล กรุ๊ป ผู้นําด้านการจําหน่ายและนำเข้า สารเคมีภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ และ ขนาดย่อม ประเภท เคมีอุตสาหกรรม เคมีทําความสะอาด เคมีสระว่ายน้ำ เคมีบำบัดน้ำ เคมีงานปั้น-งานหล่อ เคมีอาหาร กลิ่น สารสกัด สี น้ำหอม เคมีเครื่องสำอาง อาทิ กลีเซอรีน โซดาไฟเกล็ด โซเดียมเมต้าไบซัลไฟต์ เอทิลแอลกอฮอล์ ฯลฯ สารพัดด้านเคมี เวิลด์เคมิคอล กรุ๊ป พร้อมให้บริการและให้ปรึกษากับลูกค้าทุกท่าน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line ID : @worldchemical
Facebook : https://www.facebook.com/chemical.chiangmai
เว็บไซต์ : www.worldchemical.co.th
โทร : 053 204 446-7