ประโยชน์
ประโยชน์ของกากน้ำตาลสามารถใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรมรมเช่น ใช้ทำปุ๋ย ใช้เลี้ยงสัตว์ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ใช้ในอุตสาหกรรมยีสต์ ใช้ทำผงชูรส และใช้ทำกรดน้ำส้ม แต่ส่วนใหญ่จะใช้ผลิตแอลกอฮอล์ และใช้เป็นอาหารสัตว์ สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์สำหรับการผลิตสุรา และการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ ยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผงชูรส อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตยีสต์ ตลอดจนการนำกากน้ำตาลไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมรายย่อยต่างๆ เช่น นำกากน้ำตาลไปใช้หมักทำปุ๋ยน้ำ ใช้ทำน้ำสกัดชีวภาพ ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในฟาร์มกุ้ง ตลอดจนใช้ในการบำบัดน้ำทิ้ง
ลักษณะของกากน้ำตาล
กากน้ำตาล (อังกฤษ: molasses “โมลาส”) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “melaço” ในภาษาโปรตุเกส[1] กากน้ำตาลเป็นของเหลวลักษณะเหนียวข้นสีน้ำตาลดำ ที่เป็นผลพลอยจากการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งไม่สามารถจะตกผลึกน้ำตาลได้อีก เป็นเนื้อของสิ่งที่ไม่ใช่น้ำตาลที่ละลายปนอยู่ในน้ำอ้อย ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลซูโครส น้ำตาลอินเวอร์ท (invert sugar) และสารเคมี เช่น ปูนขาว ที่ใช้ในการตกตะกอนให้น้ำอ้อยใส[2] กากน้ำตาลมีระดับพลังงานระดับต่ำถึงปานกลางขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำที่มีอยู่ในกากน้ำตาล มีโพแทสเซียม และมีปริมาณน้ำในระดับสูง ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย กากน้ำตาลแบ่งได้หลายชนิด
ชนิดของกากน้ำตาล
กากน้ำตาลจากอ้อย: เกิดจากกรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยโดยเริ่มจากการนำอ้อยเข้าหีบได้น้ำอ้อย กรองเอากากออกจากน้ำอ้อยแล้วเคี่ยวน้ำอ้อยจนได้ผลึกของน้ำตาลทรายตกตะกอนออกมา แยกผลึกน้ำตาลทรายด้วยหม้อปั่น[3] ผลพลอยได้จะมี ขี้ตะกอน กากอ้อย และ กากน้ำตาล
- กากน้ำตาลจากหัวบีท: เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลจากหัวบีท
- กากน้ำตาลจากส้ม: น้ำตาลที่ได้จากส้มมีกลิ่นและรสต่างจากกากน้ำตาลอ้อย
- กากน้ำตาลจากข้าวโพด: กากน้ำตาลจากข้าวโพด มีน้ำตาลมากกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ หวานและหอมกว่าน้ำตาลอ้อย
- กากน้ำตาลจากไม้: เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมกระดาษ