คุณสมบัติ
อะซิโตน (Acetone) เป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ระเหยง่ายที่ไม่มีกลุ่มฮาโลจีเนตเต็ต
ใช้มากในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสำหรับใช้เป็นตัวทำละลายสารต่างๆ สามารถผลิต
และสกัดได้จากธรรมชาติ และการสังเคราะห์ทางเคมีจากปิโตรเลียม
ประโยชน์
1. ในภาคอุตสาหกรรมมักใช้เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
เช่น อุตสาหกรรมเคมี ผลิตยา ผลิตสี หมึกพิมพ์ น้ำมันขัดเงา กาว แลคเกอร์ เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมพลาสติก
และยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกหลายชนิด เช่น โพลีคาร์บอเนต โพลียูรีเทน และเรซิ่น เป็นต้น
2. ห้องปฏิบัติการมักใช้อะซิโตนสำหรับเป็นตัวทำละลายในการเตรียมสารเคมี
หรือ ใช้เป็นสารทำละลายสำหรับการสกัดสารอินทรีย์จากพืชหรือสัตว์
อันตรายต่อสุขภาพ
1. ระบบหายใจ: การสูดดมหรือหายใจเอาอะซิโตนเข้าสู่ระบบหายใจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ
มีอาการไอ แน่นหน้าอก เวียนศรีษะ ปวดหัว
2. ทางผิวหนัง: เมื่อสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้ผิวหนังถูกทำลาย ผิวหนังแดง อักเสบ มีอาการปวดแสบปวดร้อน
3. สัมผัสกับตา: เมื่อมีการสัมผัสกับตาจะทำให้ตาระคายเคือง น้ำตาไหล มีอาการตาแดง และปวดตา
4. การกลืนกิน: การกลืนกินเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ ปวดหัว
5. ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่อยู่ใกล้เคียงขณะปฏิบัติงาน ควรสวมถุงมือยาง รองเท้าบูท ผ้าปิดจมูก แว่นตาป้องกันสารเคมี
และสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดทุกครั้ง
การเก็บรักษา
– ควรเก็บในภาชนะที่ปิดบรรจุมิดชิด จัดเก็บในบริเวณที่แห้ง เย็น มีการระบายอากาศที่ดี
– ควรเก็บในภาชนะที่ทำจากกแก้ว หลีกเลี่ยงการเก็บในภาชนะที่ทำด้วยโลหะ ใยสังเคราะห์ และพลาสติก
– ควรเก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน แสงแดด เปลวไฟ และสารที่เข้ากันไม่ได้
– อุณหภูมิสถานที่เก็บไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส
– สถานที่เก็บควรถูกต้องตามกฎหมายที่กรมโรงงานกำหนดในเรื่องการจัดเก็บวัตถุอันตราย มีป้ายเตือนอันตราย
ป้ายเตือนให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ป้ายห้ามสูบบุหรี่ ระยะห่างจากแหล่งความร้อน แหล่งเชื้อเพลิง
อาคารสามารถป้องกันประกายไฟ เป็นต้น