คุณสมบัติ
เป็นสารเคมีที่เป็นพิษ ลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว มีกลิ่นฉุนกำมะถันอ่อนๆ ละลายได้ในน้ำ ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ มีความหนาแน่น 2.19 กรัมต่อมิลลิลิตร จุดหลอมเหลว 52 องศาเซลเซียส มีความคงตัวดี แต่จะสลายตัวในน้ำร้อนและสารละลายที่เป็นกรด ในรูปสารละลายมีคุณสมบัติเป็นสารรีดิวซ์
กลไกการออกฤทธิ์ / การเกิดพิษ
– โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์มีคุณสมบัติเป็นสารรีดิวซ์ ดังนั้นจึงมีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการฟอกสี โดยเปลี่ยนสีที่ไม่ละลายน้ำให้เป็นรูปของเกลือโลหะอัลคาไลที่ละลายน้ำได้ จึงสามารถกำจัดสีที่ไม่ต้องการได้
– ความเป็นพิษของสารนี้ มีค่า LD 50:5 กรัมต่อกิโลกรัม (เมื่อให้ในหนูโดยการกิน)
– สารนี้หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง
– สัมผัสถูกตาจะก่อให้เกิดการระคายเคือง
– ถ้าหายใจเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกทางเดินหายใจส่วนบน ก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและปวดศีรษะ
– ถ้าบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ และกระเพาะอาหาร เกิดอาการปวดหลัง ปวดศรีษะ อาเจียน ความดันโลหิตจะลดลงอย่างรวดเร็ว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หลอดลมหดตัว ทำให้หอบหืด ในผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วอาจช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ หากบริโภคเกิน 30 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้
– การได้รับสารติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้
– สารนี้ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง
ประโยชน์
เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการฟอกสี เช่น กระดาษ เส้นใยไหม แห อวน และเครื่องหนัง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
– หายใจเข้าไป : ถ้าหายใจเข้าไป ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจนช่วย แล้วนำส่งไบพบแพทย์
– กินหรือกลืนเข้าไป : ถ้ากลืนหรือกินเข้าไป ให้ผู้ป่วยบ้วนล้างปากด้วยน้ำ นำส่งไปพบแพทย์
– สัมผัสถูกผิวหนัง : ถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ฉีดล้างผิวหนังทันทีด้วยน้ำปริมาณมากๆอย่างน้อย 15 นาที พร้อมถอดเสื้อผ้าและรองเท้าที่เปรอะเปื้อนสารเคมีออก นำส่งไปพบแพทย์ และให้ซักทำความสะอาดเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
– สัมผัสถูกตา : ถ้าสัมผัสถูกตาให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมากๆอย่างน้อย 15 นาที
ข้อควรระวัง
โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ สามารถถูกออกซิไดซ์ได้ในอากาศและความชื้นไปเป็นโซเดียมไบซัลไฟต์ซึ่งทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้ สารที่เข้ากันไม่ได้ คือ สารออกซิไดซ์อย่างแรง กรดแก่ นอกจากนี้สารนี้ยังเป็นสารไวไฟ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ให้ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ผงเคมีแห้ง (น้ำจะใช้ไม่ได้ผลในการดับเพลิง) และสวมใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีถังอากาศในตัว
การเก็บรักษา
– เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด
– เก็บในบริเวณที่เย็นและแห้ง
– เก็บในบริเวณที่มีการระบายอากาศเพียงพอ
– เก็บในบริเวณที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส
– เก็บห่างจากความร้อน ประกายไฟ เปลวไฟและกรด
– ให้ล้างทำความสะอาดร่างกาย ให้ทั่วถึงภายหลังทำการเคลื่อนย้าย
อาหารที่นิยมใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ด้วยคุณประโยชน์ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้มีการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด ได้แก่
– ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ เช่น ผักผลไม้แห้ง ผักผลไม้ดอง ผักและผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน แยม
– ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม
– ผลิตภัณฑ์แป้ง เช่น เส้นหมี่และก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น แป้ง
– อาหารแช่แข็ง
– เจลาติน และอื่น ๆ
มาตรฐานการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหาร
การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังที่ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม หรือกรณีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 ได้กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร เป็นต้น สำหรับองค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน ( ADI : Acceptable Daily Intake )
อันตรายจากการบริโภคซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะมีผลไปลดประสิทธิภาพการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย และมีฤทธิ์ทำลายวิตามินบี 1 ด้วย หากร่างกายมีการสะสมสารนี้ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืดอาจช็อค หมดสติ และถึงแก่ความตายได้
ข้อแนะนำในการลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหาร
สำหรับผู้บริโภคที่สงสัยว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่นำมาใช้รับประทานจะมีการใช้ สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินขนาดหรือไม่ ทาง อย. มีวิธีแนะนำง่าย ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารดังกล่าว โดยก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ดอกไม้จีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักพบว่ามีการใส่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้บริโภคควรล้างโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่านหรือลวกในน้ำเดือดประมาณ 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหารทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึงกว่าร้อยละ 90
สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้อบแห้งที่สามารถบริโภคได้เลย เช่น พุทราจีนแห้ง ผลแอปริคอตแห้ง สังเกตได้จากภายนอก โดยไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีจัด เนื่องจากในกระบวนการผลิตผลไม้อบแห้งต้องผ่านความร้อนสูง จึงมีผลทำให้สีสันและเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์เสียไปด้วย แต่ถ้าหากพบผลิตภัณฑ์มีสีสันสวยงามมากผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมาก
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีประโยชน์สำหรับผู้ผลิตอาหารในการช่วยยืดอายุการเก็บอาหาร และช่วยไม่ให้อาหารเปลี่ยนสีเมื่อผ่านความร้อน แต่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหากผู้ผลิตใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากเกินไป ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์หรือต่ำกว่าที่กำหนด สำหรับผู้บริโภคเองควรให้ความสนใจและระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งรู้จักวิธีการลดความเสี่ยงแบบง่าย ๆ ด้วยการล้างน้ำหรือลวกในน้ำเดือด เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ว่า อาหารที่บริโภคมีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ