คุณสมบัติ
กรดอ๊อกซาลิก (Oxalic Acid) เป็นสารประกอบอินทรีย์ซึ่งมีสูตรโมเลกุล H2C2O4 และมีความเป็นกรดสูงกว่า กรดน้ำส้ม(Acetic Acid) 10000 เท่า เมื่ออยู่ในรูปของประจุจะเรียกว่า ออกซาเลต (oxalate) ซึ่งเป็นตัวรีดิวส์ที่ดีเหมือนกับหมู่ลิแกนด์ (ligand) ในสารประกอบเชิงซ้อน โลหะไอออนจะไม่ละลายน้ำเมื่อรวมกับออกซาเลต เช่น แคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate) ซึ่งเป็นนิ่วที่พบในไต
กรดอ๊อกซาลิกมีมวลโมเลกุล 90.03g/mol (anhydrous) ความหนาแน่น 1.90 g/cm³ (dehydrate) จุดหลอมเหลว 101-102°C (dehydrate) กรดอ๊อกซาลิกสามารถเตรียมได้จากการออกซิไดซ์น้ำตาลกลูโคสด้วยกรดไนตริก โดยมี vanadium pentoxide เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหรือในระดับอุตสาหกรรมที่ต้องการผลิตในปริมาณที่มากจะใช้ โซเดียมไฮดรอกไซด์ ที่ร้อนดูดรับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ภายใต้ความดันสูงซึ่งจะได้ โซเดียมออกซาเลต เป็นผลิตภัณฑ์
กรดอ๊อกซาลิกจะทำปฏิกิริยาให้สารประกอบ carboxylic acid อื่นๆเช่น สารประกอบ ester (dimethyloxalate), สารประกอบ acid chloride (oxalyl chloride) เป็นต้น
อ๊อกซาเลต (oxalate) ซึ่งเป็นคู่เบส (conjugate base) ของกรดออกซาลิก ยังเป็นลิแกนด์ที่ดีในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนโดยมีลักษณะเป็น bidentate ligand ซึ่งจะให้ 2 อิเล็กตรอนและจับกลุ่มเป็นวง 5 เหลี่ยม (MO2C2) เช่น potassium ferrioxalate, K3[Fe (C2O4) 3] หรือเป็นยา Oxaliplatin โดยมีโลหะอะตอมกลางเป็นแพลทินัม ใช้ในทางเคมีบำบัดให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
แหล่งของกรดออกซาลิก
1. การสังเคราะห์ของร่างกาย ที่มาจากกระบวนการเมตาบอลิซึมของ glyoxylic และ ascorbic acid ดังนั้นหากร่างกายได้รับวิตามินซีมากเกินไปอาจทำให้เกิดกรดออกซาลิกเพิ่มขึ้นได้
2. จากอาหาร โดยเฉพาะผัก ผลไม้ต่างๆที่มีกรดออกซาลิก โดยพบว่าผัก และผลไม้ต่างๆที่มีกรดออกซาลิกมาก ได้แก่ ใบชะพลู ยอดพริกชี้ฟ้า ผักโขม มันสำปะหลัง และ แครอท เป็นต้น
ประโยชน์ของกรดอ๊อกซาลิก
กรดอ๊อกซาลิก ถือเป็นกรดที่เป็นโทษต่อร่างกายมนุษย์ แต่ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายด้าน อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาทำความสะอาด ใช้เป็นสารเคมีสำหรับเติมเพื่อฆ่าเชื้อโรคในระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น